การทดสอบฤทธิ์ต้านเบาหวานของสารสกัดกระชายดำที่มีสาร methoxyflavone ในปริมาณสูง (methoxyflavone-enriched extract of Kaempferia parviflora; MKE) ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วยการฉีด streptozotocin เข้าทางช่องท้อง โดยแบ่งหนูเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 8 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมได้รับน้ำกลั่น กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มควบคุมได้รับ 0.2%sodium carboxymethylcellulose (CMC) กลุ่มที่ 3 และ 4 ได้รับ MKE ขนาด 150 และ 300 มก./กก./วัน ตามลำดับ และกลุ่มที่ 5 ได้รับยามาตรฐาน glibenclamide ขนาด 5 มก./กก./วัน ทำการทดสอบนาน 8 สัปดาห์ พบว่า MKE ทั้ง 2 ขนาดสามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่ากลุ่มควบคุมทั้ง 2 กลุ่มอย่างชัดเจน และมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับยา glibenclamide (MKE ทั้ง 2 ขนาดให้ผลใกล้เคียงกัน) MKE ช่วยปกป้อง Islets of Langerhans จากการถูกทำลาย โดยทำให้จำนวนเซลล์ของ Islets เพิ่มขึ้น 2 เท่า และทำให้ความหนาแน่นของอินซูลิน (insulin density) ในตับอ่อนเพิ่มขึ้น ซึ่งให้ผลเช่นเดียวกับกลุ่มที่ได้รับยา glibenclamide กลุ่มที่ได้รับ MKE และยา glibenclamide มีปริมาณ malondialdehyde (MDA) ในตับลดลง แต่ผลที่ได้มีความชัดเจนเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับยา glibenclamide นอกจากนี้ MKE ยังช่วยปกป้องไตจากภาวะของเบาหวานโดยทำให้ความเสียหายของท่อหน่วยไต (renal tubule) และการตายของเซลล์ (cell necrosis) ในไตลดลง แสดงให้เห็นว่าสารสกัดกระชายดำที่มีสาร methoxyflavone ในปริมาณสูงอาจมีฤทธิ์ต้านเบาหวานและช่วยป้องกันความผิดปกติของไตที่เกิดจากภาวะเบาหวานได้
Songklanakarin J Sci Technol. 2020;42(6):1239-47.