การศึกษาทางคลินิกแบบเปิด มีการสุ่มนาน 5 วัน มีกลุ่มคู่ขนาน และมีหลายแขน (open efficacy randomized 5-day, parallel group muti-arm interventional study) เพื่อศึกษาผลของการดื่มน้ำต้มใบฝรั่ง (guava leaf decoction) ต่ออาการท้องร่วงแบบติดเชื้อเฉียบพลัน (acute infectious diarrhoea) ในผู้ป่วยจำนวน 109 ราย ทั้งเพศชายและหญิง ที่มีอายุระหว่าง 18-60 ปี โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือแร่ (กลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 2 ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำต้มผงใบฝรั่ง 3.2 ก. (6 ใบ) กลุ่มที่ 3 ดื่มน้ำต้มผงใบฝรั่ง 5.3 ก. (10 ใบ) และกลุ่มที่ 4 ดื่มน้ำต้มผงใบฝรั่ง 7.4 ก. (14 ใบ) ติดต่อกันนาน 5 วัน พบว่า การดื่มน้ำต้มใบฝรั่งทุกขนาดสามารถลดความถี่ของการขับถ่ายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับก่อนเข้ารับการรักษา โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดความเข้มข้น (dose-dependent) และการดื่มน้ำต้มใบฝรั่ง 7.4 ก. (14 ใบ) มีระยะเวลาที่ใช้เพื่อให้ความถี่ในการขับถ่ายกลับเข้าสู่ภาวะปกติ (time required for the mean frequency of stools to reach normalcy) เท่ากับ 72 ชม. ในขณะที่กลุ่มควบคุมใช้เวลา 120 ชม. นอกจากนี้ การประเมินผลด้านความปลอดภัยพบว่า การดื่มน้ำต้มใบฝรั่งในขนาดที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ไม่ส่งผลต่อปริมาณเม็ดเลือดและการทำงานของเอนไซม์ในตับและไตของผู้ป่วย และไม่พบการรายงานอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า น้ำต้มใบฝรั่งมีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการท้องร่วงแบบติดเชื้อเฉียบพลันได้
J Ayurveda Integr Med. 2020;11(2):163-72.