น้ำทับทิมช่วยฟื้นฟูความจำ

การศึกษาทางคลินิกแบบสุ่ม ปกปิดสองทาง และมีกลุ่มควบคุม (randomized, double-blind, placebo-controlled trial) เพื่อประเมินผลของการดื่มน้ำทับทิม (Punica granatum) ต่อความจำของอาสาสมัครวัยกลางคนและผู้สูงอายุจำนวน 261 คน ทั้งเพศชายและหญิง (อายุระหว่าง 50-75 ปี) โดยแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้อาสาสมัครดื่มน้ำทับทิมขนาดวันละ 8 ออนซ์ หรือ 236.5 มล. (ประกอบด้วยสารกลุ่มโพลีฟีนอลได้แก่ punicalagins 368 มก. anthocyanins 93 มก. ellagic acid 29 มก. และ tannins 98 มก.) นานติดต่อกัน 12 เดือน ส่วนกลุ่มที่ 2 ให้ดื่มเครื่องดื่มที่แต่งสีและรสชาติคล้ายน้ำทับทิม (กลุ่มควบคุม) ทำการประเมินทักษะการเรียนรู้และความจำของอาสาสมัครด้วยแบบทดสอบ Brief Visuospatial Memory Test - Revised (BVMT-R) ซึ่งบ่งชี้ถึงทักษะการเรียนรู้ด้านความจำเกี่ยวกับการมองเห็น (visual memory) และ Buschke Selective Reminding Test (SRT) ซึ่งบ่งชี้ถึงทักษะการเรียนรู้ต่อระบบความจำด้านคำพูดและภาษา (verbal memory) ทั้งช่วงก่อนและหลังการศึกษา พบว่า กลุ่มอาสาสมัครที่ดื่มน้ำทับทิมมีค่าคะแนนแบบทดสอบ BVMT-R ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการศึกษา ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีค่าลดลง ส่วนผลการทดสอบ SRT พบว่า ไม่มีความแตกต่างระหว่างช่วงก่อนและหลังการศึกษาในทั้งสองกลุ่ม ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การดื่มน้ำทับทิมมีผลเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้และความจำจากการมองเห็นได้ดีขึ้น

Am J Clin Nutr. 2020;111:170-7.