ฤทธิ์ยับยั้งภาวะน้ำตาลในเลือดสูงของเนื้อฝักมะขาม

การศึกษาฤทธิ์ยับยั้งภาวะน้ำตาลในเลือดสูงของสารสกัดน้ำของเนื้อฝักมะขาม (Tamarindus indica Linn.; tamarind) ในหลอดทดลอง โดยศึกษากลไกการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ α-amylase และ α-glucosidase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำตาลกลูโคสเปรียบเทียบกับยาลดน้ำตาล acarbose ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเนื้อฝักมะขามมีฤทธิ์ยับยั้ง α-amylase มีค่า IC50 ของสารสกัดเท่ากับ 34.19 มคก./มล. และค่า IC50 ของ acarbose เท่ากับ 34.83 ไมโครโมล และสารสกัดน้ำของเนื้อฝักมะขามมีฤทธิ์ยับยั้ง α-glucosidase ได้ปานกลาง มีค่า IC50 ของสารสกัด เท่ากับ 56.91 มคก./มล. และค่า IC50 ของ acarbose เท่ากับ 45.69 ไมโครโมล ตามลำดับ และทดสอบความเป็นพิษของเซลล์พบว่าสารสกัดเนื้อฝักมะขาม มีค่า IC50 ของสารสกัด เท่ากับ >300 มคก./มล. และค่า IC50 ของยาลดน้ำตาล metformin เท่ากับ ≥1,000 ไมโครโมล การทดสอบการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อ L6 myotubes พบว่าสารสกัดเนื้อฝักมะขามขนาด 100 มคก./มล. สามารถนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ 63.99±0.08% ในขณะที่ metformin และอินซูลิน ขนาด 10 มคก./มล. และ 10 ไมโครโมล นำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ 76.99±0.3% และ 84.48±0.45% ตามลำดับ จากผลการทดสอบครั้งนี้สรุปได้ว่าสารสกัดน้ำของเนื้อฝักมะขามไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์และมีฤทธิ์ในการยับยั้ง α-amylase และ α-glucosidase และมีฤทธิ์นำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ ซึ่งเป็นกลไกที่เกี่ยวข้องกับการยับยั้งภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

Avicenna J Phytomed. 2020;10(5):440-7.