ฤทธิ์ต้านการอักเสบและปรับสมดุลแบคทีเรียในลำไส้ของสารโพลีแซคคาไรด์จากกระเทียม

การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบและช่วยปรับสมดุลแบคทีเรียในลำไส้ของสารโพลีแซคคาไรด์ชนิดละลายน้ำ (water-soluble garlic polysaccharide; WSGP) ที่แยกได้จากกระเทียม (Allium sativum L.) ในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบ (colitis) ด้วยสาร dextran sodium sulfate (DSS) โดยแบ่งหนูเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 8 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นหนูปกติได้รับน้ำเปล่า, กลุ่มที่ 2 ได้รับ DSS, กลุ่มที่ 3 ได้รับ WSGP 200 มก./กก./วัน, กลุ่มที่ 4 ได้รับ DSS ร่วมกับ WSGP 200 มก./กก./วัน, และกลุ่มที่ 5 ได้รับ DSS ร่วมกับ WSGP 400 มก./กก./วัน ทำการศึกษานาน 14 วัน ผลการศึกษาพบว่า (1) หนูกลุ่มที่ได้รับ WSGP มีการกินอาหารเพิ่มขึ้น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และลำไส้ใหญ่มีความยาวเพิ่มขึ้น ค่าดัชนีความรุนแรงของโรค (disease activity index) และคะแนนของการเกิดการอักเสบในชิ้นเนื้อของลำไส้ใหญ่ (histological score of colitic) มีค่าลดลง (2) WSGP มีผลทำให้เนื้อเยื่อของลำไส้ใหญ่ถูกทำลายลดลงและช่วยยับยั้งสารก่อการอักเสบชนิด interleukin 6, interleukin 1β, และ tumor necrosis factor α (3) WSGP เพิ่มการสร้าง short-chain fatty acids และทำให้สมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ดีขึ้น โดยมีผลต่อแบคทีเรียในกลุ่ม Muribaculaceae, Lachnospiraceae, Lachnospiraceae_NK4A136_group, Mucispirillum, Helicobacter, Ruminococcus_1, และ Ruminiclostridium_5 ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่เกี่ยวข้องกับโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel disease; IBD) แสดงให้เห็นว่าสารโพลีแซคคาไรด์ชนิดละลายน้ำที่แยกได้จากกระเทียม สามารถบรรเทาภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบจากการเหนี่ยวนำด้วย DSS ได้ โดยออกฤทธิ์ปกป้องเนื้อเยื่อ ยับยั้งสารก่อการอักเสบ และช่วยปรับสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้

J Agric Food Chem. 2020;68:12295-309.