ผลของชาใบรางจืดต่อความสมดุลของกลูโคสในร่างกายของอาสาสมัครสุขภาพดี

การศึกษาผลต่อสมดุลของกลูโคส (glucose homeostasis) ในร่างกาย และความปลอดภัยในการใช้ของชาใบรางจืดในอาสาสมัครสุขภาพดี จำนวน 20 คน อายุ 20-60 ปี โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ให้อาสาสมัคร จำนวน 10 คน ดื่มชาใบรางจืด ขนาด 9 ก./วัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ (ชา 1 ถุง ประกอบด้วยผงใบรางจืด 1 ก.) หลังจากนั้นให้อาสาสมัครอีก 10 คนที่เหลือ ดื่มชาใบรางจืด ขนาด 12 ก./วัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยดื่มวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร พบว่าการดื่มชาใบรางจืดทั้ง 2 ขนาด ไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด และค่าพารามิเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับภาวะสมดุลของกลูโคส ได้แก่ ฟลุกโตซามีน (fructosamine) อินซูลิน Homeostasis Model Assessment-beta (HOMA-B), HOMA-insulin resistance (HOMA-IR) น้ำหนักตัว ความดันโลหิต ระดับไขมัน และ high sensitivity C-reactive protein ของอาสาสมัคร ในเรื่องของความปลอดภัยพบว่า การดื่มชาทั้ง 2 ขนาด ไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย โดยไม่พบการเปลี่ยนแปลงของฮีโมโกลบิน จำนวนของเกร็ดเลือด ค่าการทำงานของตับและไต หรือระดับของคอร์ติซอล (cortisol) ในเลือด แต่พบว่าจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวสูงขึ้นเล็กน้อยในอาสาสมัครที่ดื่มชาขนาดวันละ 9 ก. ขณะที่ในกลุ่มซึ่งดื่มชาขนาดวันละ 12 ก. ไม่เปลี่ยนแปลง แสดงว่าชาใบรางจืด ขนาด 9 และ 12 ก./วัน ไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด และค่าพารามิเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับภาวะสมดุลของกลูโคสของอาสาสมัคร และไม่เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย

Evid Based Complement Alternat Med. 2020, article ID 3212546.