การทดสอบฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอม (citronella oil), ตะไคร้ (lemongrass oil) และพิมเสนต้น (patchouli oil) ในการต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว 2 ชนิด ได้แก่ Propionibacterium acnes และ Staphylococcus epidermidis พบว่าน้ำมันพิมเสนต้น มีฤทธิ์ดีที่สุดในการต้านเชื้อแบคทีเรีย P. acnes และ S. epidermidis โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย (MIC) อยู่ในช่วง 1.25-2.5 มก./มล. รองลงมาคือ น้ำมันตะไคร้ และน้ำมันตะไคร้หอม สาร citral ซึ่งเป็นสารสำคัญหลักที่พบในน้ำมันตะไคร้ มีฤทธิ์ดีที่สุดในการต้านเชื้อทั้ง 2 ชนิด (MIC 0.125-0.25 มก./มล.) รองลงมา คือสาร patchouli alcohol ที่พบในน้ำมันพิมเสนต้น และ citronellal ที่พบในน้ำมันตะไคร้หอม เมื่อนำน้ำมันหอมระเหยทั้ง 3 ชนิด มาผสมกันด้วยอัตราส่วนต่างๆ และทดสอบฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย พบว่าน้ำมันสูตรผสมที่ประกอบด้วยน้ำมันตะไคร้หอม:น้ำมันตะไคร้:น้ำมันพิมเสนต้น ในอัตราส่วน 1:2:1 จะมีฤทธิ์แรงที่สุดในการต้านเชื้อ P. acnes และ S. epidermidis (MIC 0.3125 และ 0.625 มก./มล. ตามลำดับ) และการศึกษาผลการเสริมฤทธิ์กันของน้ำมันสูตรผสม โดยคำนวณจากค่าดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพร่วม (fractional inhibitory concentration index; FICI) พบว่าค่า FICI ต่อเชื้อ P. acnes และ S. epidermidis เท่ากับ 0.09 และ 0.20 ตามลำดับ
Songklanakarin J Sci Technol. 2020;42(5):1106-12.