ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสของพืชสกุลหม่อน

การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสของพืชสกุลหม่อน ได้แก่ หม่อน Morus alba var. alba และ Morus alba var. rosa และต้นเรดมัลเบอรี (Morus rubra L.) ทำการทดสอบในเซลล์เยื่อบุผิวปอดของมนุษย์ (human embryonic pulmonary epithelial cells: L-132 cell) ที่ได้รับเชื้อไวรัสร่วมกับสารสกัดน้ำหรือสารสกัดไฮโดรแอลกอฮอล์ (1:1) จากส่วนใบหรือส่วนเปลือกต้น ความเข้มข้น 200 มคก./มล. พบว่าสารสกัดจากหม่อนมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัส ลดค่า viral titer และลดการเปลี่ยนแปลงเซลล์จากการได้รับไวรัส (cytopathogenic effects) โดยสารสกัดไฮโดรแอลกอฮอล์จากส่วนใบหม่อน มีฤทธิ์ดีที่สุดในการยับยั้งเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 229E (human coronavirus: HCoV 229E) ที่ความเข้มข้น 200 มคก./มล. สามารถยับยั้งค่า viral titer ได้ 100% ในขณะที่สารสกัดไฮโดรแอลกอฮอล์จากส่วนเปลือกต้นเรดมัลเบอรีมีความสามารถในการยับยั้งเชื้อก่อโรคโปลิโอ (human poliovirus 1: PV1) ได้ดีที่สุดที่ความเข้มข้น 200 มคก./มล. สามารถยับยั้งค่า viral titer ได้ 15% และผลการทดสอบฤทธิ์ของ kuwanon G สารสำคัญที่พบในใบหม่อนต่อการยับยั้งเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 229E พบว่าที่ความเข้มข้น 10 มคก./มล. มีผลลดการเปลี่ยนแปลงเซลล์จากการได้รับเชื้อไวรัสอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยพบเพียง 2% เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ 80.56% การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าหม่อนอาจมีประโยชน์ในการนำมาพัฒนาเป็นยาต้านไวรัสได้

Molecules 2020;25:1876-89.