ฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของใบมะตูม

ศึกษาฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของสารสกัดเอทานอลจากใบมะตูม (Aegle marmelos) ในหนูแรทเพศผู้ (อายุ 2-3 เดือน, น้ำหนัก 180-200 ก.) จำนวน 24 ตัว โดยแบ่งหนูออกเป็น 4 กลุ่ม (กลุ่มละ 6 ตัว) กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมปกติ (normal control) กลุ่มที่ 2 เหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยการป้อนยา indomethacin กลุ่มที่ 3 และ 4 ป้อนยาป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร misoprostol และสารสกัดเอทานอลจากใบมะตูม 200 มก./กก. ตามลำดับ นานติดต่อกัน 5 วัน ก่อนเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยการป้อนยา indomethacin หลังจากเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร 6 ชม. ทำการผ่าพิสูจน์ซากหนูเพื่อวิเคราะห์ลักษณะแผลในกระเพาะอาหารภายใต้กล้องจุลทรรศน์ ประเมินค่าเปอร์เซ็นต์การยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (percentage inhibition; PI) และเปรียบเทียบผลเชิงสถิติของแต่ละกลุ่มด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (one-way ANOVA) ตามวิธีของ Tukey’s post-hoc test ผลจากการศึกษาพบว่า ดัชนีค่าเฉลี่ยของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (mean ulcer index) ของหนูแรทที่ได้รับสารสกัดเอทนาอลจากใบมะตูม (กลุ่มที่ 4) มีค่าต่ำกว่าหนูกลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารเพียงอย่างเดียว (กลุ่มที่ 2) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่าเท่ากับ 5.175±0.05 และ 10.408±0.047 ตามลำดับ และคิดเป็นเปอร์เซ็นต์การยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้เท่ากับ 50% นอกจากนี้ ผลการตรวจวิเคราะห์ลักษณะทางจุลพยาธิวิทยา (histopathological examination) ของเนื้อเยื่อกระเพาะยังสนับสนุนผลดังกล่าว โดยพบว่า การป้อนสารสกัดเอทานอลจากใบมะตูมมีผลลดจำนวนการเกิดแผลในกระเพาะอาหารลงได้ ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า สารสกัดเอทานอลจากใบมะตูมมีฤทธิ์ในการป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้

Int J of Res in Pharmacology & Pharmacotherapeutics. 2019;8(1):16-22.