ความเป็นพิษและฤทธิ์คุมกำเนิดเพศชายของรากมะละกอ

การศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัด 80% เมทานอลจากรากมะละกอ (Carica papaya) โดยป้อนหนูแรทในขนาด 500 1,000 1,500 และ 2,000 มก./กก. เพียงครั้งเดียว จากนั้นเฝ้าสังเกตอาการเป็นเวลานาน 24 และ 48 ชม. พบว่า สารสกัดทุกขนาดไม่ทำให้หนูตายแต่มีผลต่อพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า การเคลื่อนไหวช้าลง มีอาการเดินเซ และปัสสาวะเพิ่มขึ้น จากนั้นจึงนำสารสกัดเมทานอลมาแยกต่อด้วยเทคนิคทางโครมาโตกราฟี ทำให้ได้ส่วนสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ (petroleum ether fraction) ซึ่งการทดสอบเบื้องต้นพบว่ามีผลต่ออสุจิมากที่สุด และเมื่อนำมาแยกต่อจนได้ส่วนสกัดจำนวน 3 ชนิด คือ CPFE1, CPFE2 และ CPFM1 จึงนำไปทดสอบฤทธิ์คุมกำเนิดในหนูแรทเพศผู้ โดยให้หนูกินส่วนสกัดดังกล่าวในขนาด 75 มก./กก./วัน ติดต่อกันนาน 28 วัน จากนั้นจึงทำการเก็บตัวอย่างเลือด อสุจิ และชำแหละซากหนูในวันที่ 60 ของการศึกษา โดยเปรียบเทียบผลกับหนูกลุ่มควบคุมที่ได้รับน้ำเปล่า ผลการตรวจวิเคราะห์ค่าชีวเคมีในเลือดพบว่า CPFE1 และ CPFM1 ทำให้ระดับเอนไซม์ aspartate aminotransferase (AST) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) และ CPFE1 ทำให้ระดับ blood urea nitrogen (BUN) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) แต่ไม่มีผลต่อระดับของผลรวม bilirubin, alkaline phosphatase, alkaline amino transferase, gamma glutamyl transferase และ triglycerides อย่างชัดเจน (p>0.05) ผลการวิเคราะห์ลักษณะของอสุจิพบว่า CPFE1 และ CPFM1 ทำให้ปริมาณของอสุจิ อสุจิที่มีการเคลื่อนไหวปกติ และอสุจิที่มีรูปร่างปกติ มีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) รวมทั้งเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบของอัณฑะ (testiscular inflammation) ผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเนื้อเยื่อจากอวัยวะภายในพบว่า CPFE1 และ CPFM1 ทำให้เกิดภาวะเลือดคั่ง (hyperaemia) ในไตและหัวใจเล็กน้อย และทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของเซลล์ตับบางส่วน นอกจากนี้ CPFE1 ยังทำให้เกิดการตายของเซลล์บริเวณเยื่อบุผิว (germinal epithelium) ในอัณฑะ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อสุจิมีจำนวนลดลง และอสุจิที่มีรูปร่างผิดปกติมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากผลการทดลองข้างต้นแสดงให้เห็นว่า สารสกัด 80% เมทานอลจากรากมะละกอไม่ทำให้สัตว์ทดลองตาย แม้ให้ในขนาดสูง (2,000 มก./กก.) แต่ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทส่วนกลางและมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ในขณะที่ส่วนสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์และสารที่แยกได้โดยเฉพาะ CPFE1 และ CPFM1 ทำให้จำนวนอสุจิของสัตว์ทดลองลดลง และอสุจิที่มีรูปร่างผิดปกติมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในแง่ของการใช้เพื่อการคุมกำเนิดในเพศชาย แต่ส่วนสกัดดังกล่าวทำให้ระดับ AST และ BUN เพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้เกิดภาวะเลือดคั่งในไตและหัวใจ และทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของเซลล์ตับ ซึ่งเหล่านี้อาจบ่งชี้ถึงความเป็นพิษต่อตับ ไต และหัวใจ ดังนั้นการนำมาใช้เพื่อรักษาโรคควรใช้ด้วยความระมัดระวัง

Arab J Chem. 2019;12(7):1563-8.