การศึกษาความเป็นพิษต่ออสุจิของสารสกัดน้ำจากเมล็ดมะละกอ (Carica papaya) โดยเก็บตัวอย่างน้ำอสุจิจากอาสาสมัครเพศชายสุขภาพดีจำนวน 35 คน จากนั้นนำมาบ่มในหลอดทดลองร่วมกับอาหารเลี้ยง human tubular fluid และ 1% bovine serum albumin ซึ่งมีสารสกัดน้ำจากเมล็ดมะละกอความเข้มข้น 0, 0.025, 0.25, 2.5, 25, 250 และ 2,500 มคก./มล. ที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 1 ชั่วโมง และวิเคราะห์การเคลื่อนที่ของอสุจิด้วยเครื่อง Sperm Class Analyzer (SCA, version 4.1.0.1) พบว่าสารสกัดดังกล่าวไม่มีผลต่อ VSL, LIN, STR, BFC, ความสามารถในการปฏิสนธิกับเซลล์ไข่, และการเกิด acrosome-reaction (การที่อสุจิแทงทะลุเยื่อหุ้มของเซลล์ไข่) แต่ทำให้การรอดชีวิต (vitality), ผลรวมของการเคลื่อนตัว (total motility), PR, VCL, และ VAP ของอสุจิ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และที่ขนาดความเข้มข้นสูง (250 และ 2500 มคก./มล.) ยังทำให้การเคลื่อนไหวของหางอสุจิ (hyperactivation) ลดลงอย่างชัดเจน การทดสอบความเป็นพิษต่ออสุจิพบว่า สารสกัดทำให้ค่าศักย์ไฟฟ้าบริเวณเยื่อหุ้มไมโตคอนเดรีย (mitochodria membrane potential; MMP) ของอสุจิลดลง, เซลล์อสุจิที่มีการสร้าง reactive oxygen species (ROS) ภายในเซลล์ (intracellular ROS production) มีจำนวนเพิ่มขึ้น และเซลล์อสุจิที่ดีเอ็นเอเกิดความเสียหาย (DNA-fragmentation) มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งเหล่านี้บ่งชี้ถึงการเกิดการตายของเซลล์ โดยความรุนแรงจะขึ้นกับขนาดที่ให้ และคาดว่าสารที่เป็นพิษต่ออสุจิคือสาร benzyl isothiocyanate จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า สารสกัดน้ำจากเมล็ดมะละกอมีความพิษต่ออสุจิ และอาจส่งผลต่อการสืบพันธุ์ ซึ่งน่าจะสามารถพัฒนาเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สำหรับการคุมกำเนิดในเพศชายได้
หมายเหตุ :
Progressive Motility (PR) = การเคลื่อนที่ไปด้านหน้าของตัวอสุจิ
Curvilinear Velocity (VCL) = ความเร็วในการเคลื่อนที่เป็นเส้นโค้งของตัวอสุจิ
Straight Line Velocity (VSL) = ความเร็วของการเคลื่อนที่เป็นเส้นตรงของตัวอสุจิ
Average-Path Velocity (VAP) = ความเร็วเฉลี่ยของการเคลื่อนที่จริงของตัวอสุจิ
Linearity (LIN) = VSL/VCL
Straightness (STR) = VSL/VAP
Beat Cross Frequency (BCF) = ความถี่ที่หัวอสุจิขยับผ่านผ่านเส้นทางเดินเฉลี่ย