สารสกัดเอทานอลจากเปลือกต้นสะเดา (Azadirachta indica A. Juss.) เมื่อนำมาแยกส่วนสกัดตามความมีขั้วด้วยตัวทำละลายต่างๆ เพื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์ลดน้ำตาล อันเป็นกลไกที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเบาหวาน พบว่าส่วนสกัดบิวทานอล (butanol fraction) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระดีที่สุดเมื่อทดสอบด้วยวิธี 2,2′-diphenyl-1-picrylhydrazyl (DPPH) ส่วนการทดสอบด้วยวิธี Ferric reducing antioxidant power (FRAP) พบว่าส่วนสกัดน้ำ (aqueous fraction) ให้ฤทธิ์ดีที่สุด ขณะที่การทดสอบในเนื้อเยื่อตับที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นด้วย Fe2+ พบว่าส่วนสกัดเอธิลอะซีเตท (ethylacetate fraction) และส่วนสกัดบิวทานอล มีฤทธิ์ป้องกันการเกิดความเสียหายในเนื้อเยื่อตับจากภาวะออกซิเดชั่นดีที่สุด โดยสามารถลดระดับ malondialdehyde ได้อย่างมีนัยสำคัญ ตามขนาดของส่วนสกัดที่ได้รับ และสามารถยับยั้งเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดเบาหวานและเพิ่มการนำกลูโกสเข้าเซลล์ นอกจากนี้ส่วนสกัดบิวทานอลและส่วนสกัดไดคลอโรมีเทน (dichloromethane fraction) ยังสามารถเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ catalase และ superoxide dismutase ขณะที่ส่วนสกัดบิวทานอลและส่วนสกัดเอธิลอะซีเตทสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ α-glucosidase และ α-amylase ด้วยค่า IC50 0.23 และ 14.79 มคก./มล. ตามลำดับ นอกจากนี้ ทุกส่วนสกัดยังสามารถกระตุ้นการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ได้ทั้งในสภาวะที่มีอินซูลินและไม่มีอินซูลิน โดยส่วนสกัดบิวทานอลมีฤทธิ์แรงที่สุดด้วยค่า glucose uptake (GU50) 6.22 มคก./มล. เมื่อนำส่วนสกัดบิวทานอล เอธิลอะซิเตท และไดคลอโรมีเทน ไปวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี พบสารพฤกษเคมี เช่น sitosterol, stigmasterol, campestrol, squalene และ nimbiol ซึ่งพบมากในส่วนสกัดบิวทานอลและเอธิลอะซิเตท หลังจากนำสารเหล่านี้ไปคาดคะเนการจับของสารกับโครงสร้างของเอนไซม์ ได้แก่ AMP-activated protein kinase (α-AMPK), α-amylase และ α-glucosidase ด้วยแบบจำลองสามมิติจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ พบว่าสารดังกล่าวมีความสามารถในการจับกับส่วนของโครงสร้างเอนไซม์ทั้งสามชนิดได้ ดังนั้น จากผลการศึกษาจึงสามารถสรุปได้ว่าส่วนสกัดบิวทานอลและส่วนสกัดเอธิลอะซีเตทของสารสกัดเอทานอลจากเปลือกต้นสะเดามีสารสำคัญที่มีศักยภาพในการออกฤทธิ์ต้านเบาหวาน
Biomed Pharmacother 2019;109:734-43