การศึกษาแบบกลุ่มย่อย (pilot study) ในอาสาสมัครที่เป็นผู้ป่วยและญาติ ที่มารับบริการ ณ ศูนย์บำบัดสุขภาพจิต ประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 57 คน เป็นหญิง 50 คน อายุระหว่าง 23 - 70 ปี โดยแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 อยู่ในห้องที่ให้สูดดมน้ำมันหอมระเหยจากมะกรูดฝรั่ง (bergamot) กลุ่มที่ 2 อยู่ในห้องที่สูดดมด้วยน้ำเปล่า นาน 15 นาที จากนั้นทำการทดสอบสุขภาพจิตโดยใช้แบบสอบถามการประเมินตนเอง (Positive and Negative Affect Schedule, PANAS) โดยทำการทดลองกลุ่มที่ 1 ในสัปดาห์ที่ 1, 3, 5, 7 และกลุ่มที่ 2 ในสัปดาห์ที่ 2, 4, 6, 8 พบว่าอาสาสมัครที่สูดดมน้ำมันหอมระเหยจากมะกรูดฝรั่งจะมีความรู้สึกที่ดีมากกว่ากลุ่มที่สูดดมน้ำเปล่าถึง 17% แต่เพิ่มขึ้นอย่างไม่มีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังพบว่าจำนวนของอาสาสมัครที่ต้องการจะเข้าร่วมในกลุ่มที่ 1 จำนวนมากถึง 45 คน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ 2 ซึ่งมีเพียง 12 คน ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการได้กลิ่นน้ำมันหอมระเหยจากมะกรูดฝรั่ง ทำให้มีความต้องการที่จะเข้าร่วมมากขึ้น จากการศึกษาครั้งนี้ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการสูดดมน้ำมันหอมระเหยจากมะกรูดฝรั่งในศูนย์บำบัดสุขภาพจิต และเป็นแนวทางในการรักษาแบบสุคนธบำบัด (aromatherapy) โดยใช้น้ำมันหอมระเหยจากมะกรูดฝรั่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและส่งเสริมสุขภาพจิตของแต่ละบุคคลให้ดีขึ้น
Phytother Res 2017;31:8126.