การทดสอบฤทธิ์ต้านอักเสบ ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และต้านเชื้อ Helicobacter pylori ของต้นโคมไฟจีน (Physalis alkekengi L. var. franchetii) โดยใช้ส่วนสกัดปิโตเลียมอีเธอร์ ส่วนสกัดบิวทานอล ส่วนสกัดเอธิลอะซีเตท และส่วนสกัดน้ำจากส่วนเหนือดินของต้นโคมไฟจีน ในการทดสอบฤทธิ์ต้านอักเสบ พบว่า การให้ส่วนสกัดทั้งสี่ใน ขนาด 100, 250 และ 500 มก./กก.น้ำหนักตัว มีฤทธิ์ลดการบวมจากการเหนี่ยวนำด้วยคาราจีแนนของอุ้งเท้าหนูแรท โดยส่วนสกัดเอธิลอะซีเตทขนาด 500 มก./กก. ให้ฤทธิ์การยับยั้งได้ที่สุดและให้ผลใกล้เคียงกับการใช้ยาต้านการอักเสบอินโดเมทาซิน (indomethacin) ขนาด 5 มก./กก. ในการทดสอบฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร พบว่า เมื่อป้อนหนูแรทด้วยส่วนสกัดจากต้นโคมไฟจีนก่อนการเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วย 95% เอทานอล ส่วนสกัดเอธิลอะซีเตท ขนาด 500 มก./กก. ให้ผลดีที่สุด โดยสามารถลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ใกล้เคียงกับการใช้ยารักษาแผลในกระเพาะอาหารฟาโมทิดีน (famotidine) 10 มก./กก. และส่วนสกัดเอธิลอะซีเตทยังให้ผลยับยั้งเชื้อ H. pylori ด้วยค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ (minimal inhibitory concentration: MIC) 500 ไมโครกรัม/มล. นอกจากนี้ส่วนสกัดเอธิลอะซีเตทยังให้ผลลดความเจ็บปวดในหนูแรทเมื่อทดสอบด้วยการยืนเป็นบนแท่นร้อนและการเหนี่ยวนำด้วยกรดอะซีติค จากการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีพบสารสำคัญเป็นสารกลุ่มสเตียรอยด์ เทอร์ปีนอยด์ และฟลาโวนอยด์ เช่น kaempferol, quercetin, blumenol A และ physalindicanols A เป็นต้น
J Ethnopharmacol 2018;211:197-206