ฤทธิ์บรรเทาภาวะเครียดของกลิ่นหอมจากชาดำ

การศึกษาทางคลินิกแบบสุ่ม ปกปิดทางเดียว และมีการไขว้กลุ่ม (cross-over, single-blind, randomized design) เพื่อศึกษาฤทธิ์บรรเทาภาวะเครียดของกลิ่นหอมจากชาดำ 2 ชนิดคือ ชาดาร์จีลิ่ง(Darjeeling) และชาอัสสัม (Assam) ในอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 18 คน (เพศชาย 5 คน และเพศหญิง 13 คน) อายุเฉลี่ย 20.4 ± 0.81 ปี อาสาสมัครแต่ละคนจะถูกทดสอบ 3 ครั้ง แต่ละครั้งได้รับเครื่องดื่มต่างชนิดกัน ห่างกันครั้งละ 24 ชั่วโมง โดยในแต่ละรอบของการทดลองเมื่ออาสาสมัครมาถึงสถานที่ทดสอบ จะให้นั่งพักเป็นเวลา 10 นาที จากนั้นให้อาสาสมัครดมกลิ่นของเครื่องดื่ม 1 ชนิด จาก 3 ชนิด ได้แก่ น้ำอุ่น ชาดาร์จีลิ่ง หรือชาอัสสัม แต่ละรอบไม่ซ้ำกัน เป็นเวลานาน 1 นาที และให้ทำแบบทดสอบจิตวิทยาในรูปแบบของการคำนวนทางคณิตศาสตร์ (Uchida-Kraepelin test) โดยทดสอบเป็นเวลา 15 นาที จากนั้นจึงเก็บตัวอย่างน้ำลายเพื่อวัดระดับของโปรตีน chromogranin-A (CgA) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความเครียด และประเมินภาวะทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วย Profile of Mood States (POMS) และ visual analogue scale (VAS) ผลการทดลองพบว่า การดมชาดาร์จีลิ่งและชาอัสสัมสามารถลดระดับของ CgA ในน้ำลายที่เพิ่มขึ้นจากการทำแบบทดสอบได้ (เปรียบเทียบผลกับการดมน้ำอุ่น) การวิเคราะห์ทางเคมีพบว่าชาดาร์จีลิ่งมีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ต้านความเครียดมากกว่าชาอัสสัม แต่ไม่พบความแตกต่างในการออกฤทธิ์ต้านภาวะเครียดระหว่างการดมกลิ่นชาชงดาร์จีลิ่งและชาอัสสัมอย่างชัดเจน จากผลการทดลองทำให้สามารถสรุปได้ว่า การสูดดมกลิ่นหอมจากชาดำทั้งสองชนิด อาจช่วยลดระดับความเครียดที่เกิดจากการเหนี่ยวนำด้วยการทำแบบทดสอบในรูปแบบของการคำนวนทางคณิตศาสตร์ได้ และจากการประเมินภาวะทางอารมณ์ พบว่าเมื่อดมกลิ่นหอมของชาดาร์จีลิ่งก่อนการเผชิญสภาวะเครียด อาสาสมัครมีแนวโน้มในการปรับสภาวะทางอารมณ์ได้ดี

J Physiol Anthropol. 2018;37:3.