การศึกษาทางคลินิกแบบภาคตัดขวาง (cross-sectional study) ระหว่างปี ค.ศ. 2009 2010 เพื่อศึกษาผลของการบริโภคกาแฟในขนาดต่างๆ ต่อโครงสร้างของร่างกาย (body composition) ในประชากรชาวเกาหลีใต้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จำนวน 6,906 คน (เพศชาย 2,833 คน และเพศหญิง 4,073 คน) โดยใช้แบบสำรวจ 63-item food frequency questionnaire ทำการวิเคราะห์โครงสร้างของร่างกายด้วย dual-energy x-ray absorptiometry ประเมินผลด้วยการวัดค่าดัชนีมวลกาย (body mass index; BMI) และขนาดของเส้นรอบเอว (waist circumference; WC) รวมทั้งประเมินภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย (Sarcopenia) ด้วยการวัดมวลกล้ามเนื้อโครงกระดูกแขนขา (appendicular skeletal muscle mass) จากผลการสำรวจทำให้สามารถแบ่งประชากรได้เป็น 4 กลุ่ม ตามขนาดของการบริโภคกาแฟ คือ น้อยกว่า 1 ถ้วย/วัน, 1 ถ้วย/วัน, 2 ถ้วย/วัน, และตั้งแต่ 3 ถ้วยขึ้นไป/วัน ซึ่งพบว่าประชากรที่มีภาวะอ้วนจากการประเมินผลด้วย BMI, WC, และมีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย มีจำนวน 2,390 คน (35.5%), 2,033 คน (28.5%), และ 1,438 คน (20.0%) ตามลำดับ จากผลการวิเคราะห์การถดถอยพหุโลจิสติกส์ (multiple logistic regression) พบว่า ผู้ชายที่ดื่มกาแฟ 1 ถ้วย/วัน จะมีโอกาสเกิดภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยได้ต่ำกว่าผู้ชายที่ดื่มกาแฟน้อยกว่า 1 ถ้วย/วัน ส่วนผู้หญิงที่ดื่มกาแฟตั้งแต่ 3 ถ้วยขึ้นไป/วัน จะมีโอกาสเกิดภาวะอ้วนได้มากกว่าผู้หญิงที่ดื่มกาแฟน้อยกว่า 1 ถ้วย/วัน เมื่อประเมินผลด้วย BMI และ WC แสดงให้เห็นว่า การดื่มกาแฟแบบเบาๆ (วันละ 1 ถ้วย) น่าจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยในเพศชายได้ แต่การดื่มกาแฟที่มากเกินไป (มากกว่า 3 ถ้วย/วัน) อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะอ้วน โดยเฉพาะในเพศหญิงได้
Nutr Res 2017;41:97-102.