การทดสอบฤทธิ์ต้านภูมิแพ้บริเวณทางเดินหายใจของสารแอลคาลอยด์รวม (มี scholaricine, 19-epischolaricine, vallesamine, และ picrinine เป็นส่วนประกอบหลัก) ซึ่งแยกได้จากสารสกัด 90% เอทานอลของใบพญาสัตบรรณ (Alstonia scholaris (L.) R. Br.) ในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดอาการภูมิแพ้ด้วยโอแวลบูมิน (ovalbumin) โดยเปรียบเทียบการให้สารแอลคาลอยด์รวมเข้าทางกระเพาะอาหารของหนูวันละ 3 ครั้ง (ขนาด 8.3 และ 16.7 มก./กก./ครั้ง) และวันละครั้ง (ขนาด 25 และ 50 มก./กก.) และใช้ยา dexamethasone ขนาด 2 มก./กก./วัน เป็น positive control ใช้เวลาในการทดสอบทั้งหมด 22 วัน (ป้อนสารทดสอบในวันที่ 15 - 21) ผลการทดลองพบว่า การให้สารแอลคาลอยด์วันละ 3 ครั้ง ให้ผลดีกว่าการให้วันละครั้งเล็กน้อย (คาดว่าเกิดจากการคงของระดับยาในเลือดมากกว่า จึงทำให้การออกฤทธิ์ดีกว่า) จากการตรวจดูน้ำล้างปอดพบว่าจำนวนของ eosinophils ลดลงอย่างชัดเจน ระดับของ interleukin-4 (IL-4) ลดลง และ ระดับของ interleukin-10 (IL-10) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการตรวจซีรัมพบว่าระดับของ immunoglobulin E (IgE) และ eotaxin ซึ่งเป็น cytokine ที่กระตุ้นและดึงดูดเซลล์อักเสบลดลง นอกจากนี้สารทดสอบทั้งหมดยังทำให้การทำงานของ superoxide dismutase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลายอนุมูลอิสระ เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และทำให้ระดับของ malondialdehyde ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการเกิด lipid peroxidation ลดลง จากผลการทดลองทำให้สรุปได้ว่า สารในกลุ่มแอลคาลอยด์ซึ่งแยกได้จากใบพญาสัตบรรณมีฤทธิ์ต้านภูมิแพ้บริเวณทางเดินหายใจ โดยการแบ่งให้วันละ 3 ครั้งจะให้ผลดีกว่าการให้วันละครั้ง และคาดว่าสาร scholaricine และ vallesamine เป็นสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ต้านภูมิแพ้
Phytomedicine 2017;27:63-72.