ผลในการบรรเทาอาการโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) ของขมิ้นและว่านชักมดลูก

การศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) ทั้งหญิงและชายอายุ 18-70 ปี จำนวน 99 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มที่ได้รับแคปซูล (soft gel) ตำรับสมุนไพรIQP-CL-101 (Xanthofen) ที่มีส่วนผสมหลัก คือ สารเคอคิวมินอยด์ (curcuminoids) จากขมิ้น (Curcuma longa) และน้ำมันหอมระเหยจากว่านชักมดลูก (Curcuma xanthorrhiza) ปริมาณรวม 330 มก. และส่วนผสมอื่นๆ ได้แก่ น้ำมันปลา (fish oil) 70 มก. น้ำมันสะระแหน่ (peppermint oil) 15 มก. น้ำมันเมล็ดยี่หร่า (caraway oil) 8 มก. โฟลิกอะซิด (folic acid) 39 มคก. และวิตามิน D3 625 มคก. โดยรับประทานครั้งละ 2 แคปซูล 2 ครั้ง/วัน ก่อนอาหารมื้อหลัก เปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอก เป็นเวลา 8 สัปดาห์ จากการประเมินด้วยแบบสอบถามเกี่ยวกับความรุนแรงของอาการต่างๆ ของโรคลำไส้แปรปรวน Irritable Bowel Syndrome Symptom Severity Score; IBS-SSS พบว่ากลุ่มที่ได้รับตำรับสมุนไพรมีคะแนนลดลง 113.0 ± 64.9 คะแนน มากกว่ากลุ่มยาหลอกซึ่งลดลง 38.7 ± 64.5 คะแนน โดยเริ่มแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ 4 ของการทดสอบ และจากการประเมินความทนต่อยา (tolerability) ก็ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ชนิดร้ายแรง (serious adverse events) ใดๆ จากผลการทดสอบจึงสรุปได้ว่าตำรับสมุนไพร IQP-CL-101 สามารถช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตจากการบรรเทาอาการปวดหรือไม่สบายท้องของโรคลำไส้แปรปรวนได้ อย่างไรก็ตามการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาในระยะเวลา 8 สัปดาห์จึงไม่สามารถบอกประสิทธิผลของการรักษาในระยะยาวได้ และมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสรุปผลว่าสมุนไพรตำรับดังกล่าวมีประสิทธิผลที่ดีต่อโรคลำไส้แปรปรวนชนิดใด ได้แก่ ชนิดที่มีอาการท้องเสียเด่น (diarrhea predominate IBS) ชนิดท้องผูกเด่น (constipation predominate IBS) ชนิดท้องเสียสลับท้องผูก (mixed IBS) หรือชนิดที่มีอาการไม่ชัดเจน (undetermined IBS) จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

Phytother Res 2017;31(7):1056-62.