เปรียบเทียบผลของการสูดดมยูคาลิปตัสและหอมแดงด้วยไอน้ำร้อนต่ออาการคัดจมูกในผู้ป่วยโรคหวัด

การศึกษาวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มไปข้างหน้าและมีกลุ่มควบคุม (Randomized prospective controlled trial) เพื่อเปรียบเทียบผลของการสูดดมยูคาลิปตัสและหอมแดงด้วยไอน้ำร้อนต่ออาการคัดจมูกในผู้ป่วยโรคหวัดจำนวน 37 คน โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สูดดมยูคาลิปตัสจำนวน 19 คน และกลุ่มที่สูดดมหอมแดงด้วยไอน้ำร้อนจำนวน 18 คน ให้ผู้ป่วยสูดดมยูคาลิปตัสหรือหอมแดงด้วยไอน้ำร้อนอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 10 นาที และประเมินอาการคัดจมูกของผู้ป่วยโดยให้ผู้ป่วยให้คะแนนความรุนแรงของอาการคัดจมูกด้วยตนเอง และการใช้เครื่องมือตรวจวัดแรงต้านทานในจมูกโดยเทคนิคไรโนมาโนเมตรีทั้งก่อนและหลังสูดดมไอระเหยเป็นเวลา 40 นาที พบว่าหลังการสูดดมยูคาลิปตัสและหอมแดงด้วยไอน้ำร้อน คะแนนประเมินอาการคัดจมูกของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มดีขึ้นไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับความเชื่อมั่น 99.9% โดยค่าเฉลี่ยของคะแนนอาการคัดจมูกของผู้ป่วยกลุ่มที่สูดดมยูคาลิปตัสลดลงจาก 54.44±10.42% เป็น 40.50±14.94% และในกลุ่มที่สูดดมหอมแดงด้วยไอน้ำร้อนลดลงจาก 55.72±10.59% เป็น 39.72±13.17% ในขณะที่ค่าแรงต้านทานในจมูกของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มเพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อยโดยไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรงจากการสูดดมทั้งสองวิธี แสดงว่าการสูดดมหอมแดงด้วยไอน้ำทำให้ผู้ป่วยรู้สึกโล่งจมูกได้ใกล้เคียงกับการสูดดมยูคาลิปตัส และทั้งสองวิธีมีความปลอดภัย จึงอาจใช้หอมแดงทดแทนยูคาลิปตัสซึ่งมีราคาแพงกว่าได้

วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 2560:15(2; ฉบับเสริม):92.