เมล็ดเจียมีผลลดน้ำหนักในผู้ที่มีน้ำหนักเกินและผู้ป่วยอ้วนที่มีภาวะเบาหวานชนิดที่2ร่วมด้วยได้

การศึกษาแบบสุ่มมีกลุ่มควบคุม และศึกษาแบบปกปิดทั้ง 2 ฝ่าย (double-blind, randomized, controlled trial) ในผู้ที่มีน้ำหนักเกินซึ่งมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ระหว่าง 25-40 กก/ตรม. หรือผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีภาวะเบาหวานชนิดที่ 2 (มีค่า HbA1c ระหว่าง 6.5-8.0%) ร่วมด้วย จำนวน 77 คน อายุระหว่าง 35 - 75 ปี แบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่ม 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มทดลองซึ่งรับประทานอาหารจำกัดพลังงาน (calorie-restricted diet) ที่มีเมล็ดเจียปริมาณ 30 กรัมต่อพลังงาน 1,000 กิโลแคลอรีของอาหารต่อวัน ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มควบคุมที่รับประทานอาหารจำกัดพลังงานที่มีข้าวโอ๊ตปริมาณ 36 กรัมต่อพลังงาน 1,000 กิโลแคลอรีของอาหารต่อวัน ทานติดต่อกันนาน 6 เดือน ภายหลังการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่รับประทานอาหารที่มีเมล็ดเจียเป็นส่วนประกอบมีน้ำหนักร่างกายลดลงเฉลี่ย 1.9 ± 0.5 กก. ซึ่งลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมซึ่งมีน้ำหนักร่างกายลดลงเฉลี่ย 0.3±0.4 กก.อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนั้นกลุ่มที่รับประทานเมล็ดเจียมีขนาดรอบเอวและปริมาณของค่า ซีรีแอกทีฟโปรตีน (C-reactive protein) ซึ่งเป็นพารามิเตอร์ที่บ่งบอกความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นเดียวกัน ทั้งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีค่าอะดิโพเนคติน (adiponetin) เพิ่มขึ้นอย่างไม่แตกต่างกันทางสถิติ โดยเพิ่มประมาณ 6.5 ± 0.7% ซึ่งการเพิ่มขึ้นของสารนี้จะความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงของภาวะดื้อต่ออินซูลินในผู้ป่วยเบาหวาน
สรุปได้ว่าการรับประทานเมล็ดเจียร่วมกับการควบคุมอาหารมีผลส่งเสริมการลดน้ำหนักและลดความเสี่ยงการเกิดโรคที่เกิดจากความอ้วน เช่น โรคเบาหวานได้

Nutr Metab Cardiovas 2017;27:138-46.