สารไอโซฟลาโวนจากถั่วเหลืองช่วยให้การเจริญเติบโตและคุณภาพของกระดูกดีขึ้นในสัตว์ทดลอง

การศึกษาผลของสารไอโซฟลาโวนจากถั่วเหลือง (soy isoflavone) ต่อความยาวของกระดูกหน้าแข้ง (tibia length) ความหนาแน่นมวลกระดูก (bone mineral density; BMD) และตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกระดูกของหนูแรทเพศเมียวัยกำลังเจริญเติบโต (อายุ 3 สัปดาห์) โดยแบ่งหนูเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้รับน้ำเปล่า ทางกระเพาะอาหาร (กลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 2 ได้รับไอโซฟลาโวนขนาดต่ำ (10 มก./กก./วัน) ทางกระเพาะอาหาร (low-IF) กลุ่มที่ 3 ได้รับไอโซฟลาโวนขนาดสูง (50 มก./กก./วัน) ทางกระเพาะอาหาร (high-IF) และกลุ่มที่ 4 ได้รับสาร 17β-estradiol ขนาด 10 มคก. ทางการฉีดใต้ผิวหนัง (E2) เป็นเวลานาน 8 สัปดาห์ ซึ่งหนูจะได้รับอาหารที่ปราศจากถั่วเหลืองและเฝ้าติดตามการเปิดของช่องคลอด (vaginal opening) ทุกวัน ตลอดการทดลอง จากนั้นจึงทำการวิเคราะห์ตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของกระดูก เช่น ระดับของ alkaline phosphatase (ALP), osteocalcin (OC), N-terminal telopeptide (NTx), ความยาวของกระดูก, ขีดจำกัดสูงสุดก่อนโครงสร้างกระดูกเสียหาย (failure load), ความแข็ง, BMD, และโครงสร้างทั่วไป พบว่า กลุ่ม high-IF มีระดับของ ALP สูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างชัดเจน (P < 0.05) แต่มีระดับของ OC ต่ำกว่ากลุ่มควบคุม และ low-IF และกลุ่ม E2 อย่างชัดเจน (P < 0.05) ความยาวของกระดูกหน้าแข้ง (tibia) และกระดูกน่อง (femur) ในกลุ่ม low-IF ยาวกว่าของกลุ่มควบคุมและ high-IF อย่างชัดเจน (P < 0.05) ปริมาณกระดูก (bone volume), จำนวนของกระดูกเนื้อโปร่ง (trabecular number), และ BMD ของกระดูกเนื้อโปร่ง ในกลุ่ม high-IF และ E2 สูงกว่ากลุ่มควบคุม และ low-IF อย่างชัดเจน (P < 0.05) ความหนาของกระดูกเนื้อโปร่ง ในกลุ่ม high-IF มีมากกว่ากลุ่มควบคุม และ low-IF อย่างชัดเจน (P < 0.05), ระดับของ failure load ในกลุ่ม high-IF สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างชัดเจน (P < 0.05) และการเฝ้าติดตามระยะของการเกิด vaginal opening ซึ่งบ่งบอกถึงการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ พบว่ากลุ่ม E2 จะเกิด vaginal opening เร็วกว่า และมีน้ำหนักตัวน้อยกว่ากลุ่มควบคุม, low-IF, และ high-IF อย่างชัดเจน (P < 0.05) จากผลการทดลองทำให้สามารถสรุปได้ว่า การได้รับสารไอโซฟลาโวนจากถั่วเหลืองในขนาดต่ำ (10 มก./กก./วัน) เป็นเวลานาน 8 สัปดาห์ สามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของกระดูกตามยาว (longitudinal bone) ได้ ในขณะที่การได้รับสารไอโซฟลาโวนจากถั่วเหลืองในขนาดสูง (50 มก./กก./วัน) จะช่วยให้คุณภาพของกระดูกดีขึ้น ทั้งในส่วนของความหนาแน่นมวลกระดูกและโครงสร้างทั่วไปของกระดูก เมื่อทำการทดสอบในหนูแรทเพศเมียวัยกำลังเจริญเติบโต ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้เพื่อเสริมสร้างกระดูก และลดความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักหรือภาวะกระดูกพรุน โดยไม่ทำให้เกิดภาวะเข้าสู่วัยหนุ่มสาวก่อนวัยอันควร (early puberty)

Nutrition 2017;37:68-73