ฤทธิ์ต้านเบาหวานของน้ำคั้นจากผลมะระ

การศึกษาฤทธิ์ต้านเบาหวานของน้ำคั้นจากผลมะระในหนูแรทที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วย streptozotocin โดยแบ่งหนูออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 หนูปกติ กลุ่มที่ 2 หนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน กลุ่มที่ 3 หนูที่ป้อนด้วยน้ำคั้นจากผลมะระ ขนาด 10 มล./กก. เป็นเวลา 14 วัน ก่อนเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน จากนั้นป้อนน้ำคั้นต่อไปอีก 21 วัน และกลุ่มที่ 4 หนูที่เป็นเบาหวานที่ป้อนด้วยน้ำคั้นจากผลมะระ ขนาด 10 มล./กก. เป็นเวลา 21 วัน พบว่าหนูที่ได้รับน้ำคั้นทั้งก่อนและหลังเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานแล้วจะมีระดับน้ำตาลในเลือด ฟรุกโตซามิน คอเลสเตอรอลรวม ไตรกลีเซอร์ไรด์ ค่าดัชนีชี้วัดภาวะดื้ออินซูลิน และปริมาณของมาลอนไดอัลดีไฮด์ลดลง ขณะที่ระดับอินซูลิน ไขมันชนิด HDL ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระรวม (total antioxidant capacity) การทำงานของเบต้าเซลล์ (β cell function) และปริมาณของรีดิวซ์กลูต้าไธโอน (reduced glutathione) เพิ่มขึ้น น้ำคั้นทำให้ลักษณะทางจุลพยาธิวิทยาของตับอ่อนดีขึ้น นอกจากนี้ยังเพิ่มการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ จะเห็นว่าน้ำคั้นจากผลมะระมีฤทธิ์ดีในการลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมัน และต้านอนุมูลอิสระ ดังนั้นผลมะระจึงมีศักยภาพที่จะนำมาใช้ในการรักษาโรคเบาหวานไม่ว่าจะใช้ในเชิงการป้องกันหรือรักษา

Pharm Biol 2017;55(1):758-65.