ฤทธิ์รักษาแผลของสารสกัดเอ็น-บิวทิลแอลกอฮอล์จากดอกชบา

การศึกษาฤทธิ์รักษาแผลชนิดถูกตัด (exision wound) ของสารสกัดเอ็น-บิวทิลแอลกอฮอล์จากดอกชบาสีแดง (Hibiscus rosa-sinensis L.) ในหนูแรทที่ถูกทำให้เกิดแผล จากนั้นทาสารสกัดจากดอกชบาที่ความเข้มข้น 80, 160 และ 320 มก./มล. บริเวณแผล วันละ 2 ครั้ง ต่อเนื่องกัน 9 วัน เปรียบเทียบกับกลุ่มที่รักษาด้วยการใช้ recombinant bovine basic fibroblast growth factor (rbFGF: สารที่กระตุ้นเซลล์ไฟโบรบลาสให้สร้างคอลลาเจน) และกลุ่มควบคุมที่รักษาด้วยไดเมทิลซัลโฟไซด์ความเข้มข้น 5% (5% dimethylsulfoxide: DMSO) จากการติดตามประเมินผลพบว่ากลุ่มที่รักษาด้วย rbFGF และสารสกัดจากดอกชบาความเข้มข้นระดับกลางและสูง (160 และ 320 มก./มล ตามลำดับ) มีอัตราการหายของแผลดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญกว่ากลุ่มควบคุมตั้งแต่วันที่ 3 ของการรักษา และอัตราการหดรั้งของบาดแผล (wound contraction) ในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากดอกชบามีค่าสูงกว่ากลุ่มทีได้รับ rbFGF อย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่วันที่ 6 หลังการรักษา สอดคล้องกับการตรวจสอบลักษณะทางจุลพยาธิวิทยาพบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากดอกชบามีการสร้างเนื้อเยื่อบุผิว (epithelialization) การกระจายตัวของเซลล์ไฟโบรบลาสต์ (fibroblast distribution) รวมถึงการวางตัวของคอลลาเจน (collagen deposition) สูงกว่ากลุ่มทดลองอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ในกลุ่มทีได้รับสารสกัดจากดอกชบาและกลุ่ม rbFGF พบความหนาแน่นของ vascular endothelial growth factor, transforming growth factor-β1 และ CD68 ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างหลอดเลือดเพิ่มสูงขึ้นกว่ากลุ่มทดลอง และสารสกัดจากดอกชบายังมีผลเพิ่มอัตราการขจัดออกและการกลืนกินเซลล์แปลกปลอม ซึ่งบ่งชี้ถึงการกระตุ้นการทำงานของเซลล์แมคโครฟาจ การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าสารสกัดเอ็น-บิวทิลแอลกอฮอล์จากดอกชบามีฤทธิ์รักษาแผลโดยเพิ่มการทำงานของแมคโครฟาจ เร่งการสร้างหลอดเลือดใหม่ และเพิ่มการวางตัวของคอลลาเจน ผ่านการตอบสนองของ vascular endothelial growth factor และ transforming growth factor-β1 เป็นสำคัญ

J Ethnopharmacol 2017;198:291-301