ตำรับยาเบญจโลกวิเชียร เป็นตำรับยาแผนโบราณที่ใช้แก้ไข้ต่างๆ รวมทั้งไข้มาลาเรีย ประกอบด้วยรากของต้นชิงชี่ ย่านาง คนทา ไม้เท้ายายม่อม และมะเดื่อชุมพร แต่ในปัจจุบันมีการนำส่วนของลำต้นมาใช้แทนรากในตำรับยา ดังนั้นจึงได้มีการศึกษาเปรียบเทียบฤทธิ์ในการต้านเชื้อมาลาเรีย (Plasmodium falciparum) สายพันธุ์ที่ไวต่อยาคลอโรควิน (chloroquine-sensitive, Pf3D7) และสายพันธุ์ที่ดื้อต่อยา (chloroquine-resistant, PfW2) ของตำรับยาที่เตรียมจากราก หรือเตรียมจากลำต้น รวมทั้งส่วนรากและลำต้นของสมุนไพรเดี่ยวที่เป็นส่วนประกอบของตำรับ พบว่าตำรับยาที่เตรียมจากราก และลำต้น และส่วนของรากและลำต้นในสมุนไพรเดี่ยวๆ สามารถต้านเชื้อมาลาเรีย และมีความเป็นพิษต่ำและความจำเพาะต่อฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย โดยมีค่า SI values (selective index = TC50cytotoxicity/IC50 antiplasmodial activity) อยู่ในช่วง 3.55 -19.74 โดยที่สารสกัดจากตำรับยาเบญจโลกวิเชียรสามารถต้านเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ Pf3D7 และ สายพันธ์ PfW2 โดยมีค่า IC50 < 5 และ 6 - 10 มคก./มล. ตามลำดับ ในขณะที่รากและลำต้นของสมุนไพรเดี่ยวทั้ง 5 ต้น พบว่าย่านางมีประสิทธิภาพสูงสุด IC50 < 5 มคก./มล. และมีความจำเพาะต่อฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย > 10 และสามารถแยกสารหลักที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียคือ tiliacorinine และ yanangcorinine จากสารสกัดลำต้นย่านาง โดยตรวจพบปริมาณสารทั้งสองชนิดในตำรับยาเบญจโลกวิเชียรอยู่ถึง 0.57 - 7.66% นอกจากนี้เมื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างค่า IC50 และปริมาณสารทั้งสองชนิดในตำรับ พบว่าตำรับยาเบญจโลกวิเชียรมีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อมาลาเรียสองสายพันธุ์สูงกว่าสารเดี่ยวๆ แสดงให้เห็นว่าเมื่อนำมาทำเป็นตำรับจะมีการเสริมฤทธิ์กันทำให้มีฤทธิ์ต้านมาลาเรียสูงมากขึ้น และลดความเป็นพิษของสมุนไพรในแต่ละต้นลง จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าตำรับยาที่เตรียมจากราก หรือจากลำต้น รวมทั้งส่วนรากและลำต้นของสมุนไพรเดี่ยวที่เป็นส่วนประกอบของตำรับนี้มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อมาลาเรีย ซึ่งควรมีการพัฒนาและศึกษาของตำรับยาเบญจโลกวิเชียรที่เตรียมจากลำต้นของสมุนไพรดังกล่าวต่อไป
J Ethnopharmacol 2016;193:125-32.