การศึกษาฤทธิ์คลายความวิตกกังวลของคาโมมายล์ (Matricaria chamomilla L.) ในผู้ป่วยโรควิตกกังวลทั่วไประดับปานกลางและมาก (moderate to severe generalized anxiety disorder) โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ช่วง คือ การศึกษาระยะสั้น เป็นการศึกษาแบบเปิด (open label) ในผู้ป่วยจำนวน 104 คน โดยให้รับประทานแคปซูลสารสกัดเอทานอลจากดอกคาโมมายล์ ขนาด 500 มก. วันละ 3 แคปซูล (ใน 1 แคปซูลเทียบเท่ากับดอกคาโมมายล์แห้ง 2 ก. มีสารสำคัญ apigenin-7-glycosides ประมาณ 6 มก.) ติดต่อกัน 8 สัปดาห์ จากนั้นประเมินค่าความวิตกกังวลโดยให้อาสาสมัครตอบแบบสอบถาม GAD-7 symptom rating ผลการศึกษาพบว่าอาสาสมัครมีอาการวิตกกังวลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อประเมินผลลัพธ์รองด้วยแบบสอบถาม Hamilton Rating Scale for Anxiety, the Beck Anxiety Inventory และ Psychological General Well Being Index ต่างพบว่าความวิตกกังวลในอาสาสมัครลดลงและอาสามัครมีสุขภาวะทางจิตใจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนรับประทาน และในลำดับถัดมา ทำการศึกษาต่อเนื่องระยะยาว แบบสุ่มและปกปิดทั้งสองฝ่าย (double blind, randomized controlled trial) ในอาสาสมัคร 179 คน โดยให้รับประทานแคปซูลสารสกัดจากคาโมมายล์ วันละ 3 แคปซูล (รวม 1,500 มก./วัน) ติดต่อกัน 12 สัปดาห์ จากนั้นคัดเลือกเฉพาะอาสาสมัครที่มีค่า GAD-7 ลดลงอย่างน้อย 50% และมีค่า Clinical Global Impression-severity score เท่ากับ 3 หรือต่ำกว่า จำนวน 93 คน สุ่มให้รับประทานแคปซูลสารสกัดคาโมมายล์หรือยาหลอก ต่อเนื่องอีก 26 สัปดาห์ พบว่าจำนวนอาสาสมัครกลุ่มได้รับยาหลอกมีอาการกำเริบคิดเป็น 25.5% ในช่วงระยะเวลา 6.3±3.9 สัปดาห์ ขณะที่อาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับคาโมมายล์มีอาการกำเริบเพียง 15.2% ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มที่ได้ยาหลอก และในระยะเวลานานกว่ากลุ่มยาหลอก คือ 11.4±8.4 สัปดาห์ จากการติดตามผลหลังการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากคาโมมายล์มีอาการวิตกกังวลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงมีน้ำหนักตัวและความดันโลหิตลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก จากการศึกษาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการรับประทานสารสกัดจากคาโมมายล์ทั้งการใช้ในระยะสั้นและระยะยาว (8-38 สัปดาห์) มีความปลอดภัยและสามารถบรรเทาอาการวิตกกังวลทั่วไปได้เช่นเดียวกับการใช้ยาคลายความกังวล
Phytomedicine 2016;22:1699-1705 และ 1735-42