การศึกษาทางคลินิก (a randomised, double-blinded, placebo-controlled, cross-over trial) เกี่ยวกับฤทธิ์ของสารเควอซิติน (quercetin) ต่อการลดระดับกรดยูริก (uric acid) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเก๊าต์ ในอาสาสมัครเพศชายสุขภาพดีอายุ 19-60 ปี จำนวน 22 คน ที่มีระดับกรดยูริกในพลาสมา 300 ไมโครโมล/ลิตรขึ้นไป ให้รับประทานยาเม็ดที่ประกอบด้วยสารเควอซิตินขนาด 500 มก./วัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ผลการทดสอบพบว่าสารเควอซิตินมีผลลดระดับของกรดยูริก (−265 ไมโครโมล/ลิตร) โดยไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร การขับกรดยูริกทางปัสสาวะ และความดันโลหิต จึงสรุปได้ว่าสารเควอซิตินมีผลช่วยลดระดับกรดยูริกในเลือดได้ โดยนักวิจัยระบุว่าสารเควอซิตินขนาด 500 มก. เทียบเท่ากับหอมแดงประมาณ 100 ก. นอกจากนี้ยังสามารถพบสารเควอซิตินได้มากในชาดำและแอปเปิ้ล เป็นต้น
Br J Nutr 2016;115(5):800-6