สารสกัดบัวบกกระตุ้นการทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระและไมโตคอนเดรียและการปรับปรุงการเรียนรู้ของหนู

การทดลองในหนูเม้าส์เพศผู้ และเพศเมีย ที่มีอายุ 20 เดือน และ 2 เดือน โดยแบ่งกลุ่มหนูตามเพศ และอายุ ให้หนูกินน้ำดื่มที่มีสารสกัดน้ำจากบัวบกขนาด 2 ก./ล. นาน 2 สัปดาห์ และกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับสารสกัดบัวบก จากนั้นวัดการเรียนรู้ของหนูด้วยวิธี Morris Water Maze (MWM) พบว่าในช่วงที่หนูเห็น platform ไม่มีความแตกต่างกันในทุกกลุ่ม แต่ในช่วงที่มองไม่เห็น platform ในวันที่ 5 ของการทำ MWM พบว่าหนูเพศผู้ที่มีอายุ 20 เดือน สามารถค้นพบ platform ได้เร็วกว่าหนูเพศผู้ที่มีอายุเท่ากัน แต่ไม่ได้รับสารสกัดบัวบก เช่นเดียวกันกับหนูเพศเมียที่มีอายุ 20 เดือน และหนูเพศผู้ที่มีอายุ 2 เดือน ที่ได้รับสารสกัดบัวบกสามารถค้นพบ platform ได้เร็วกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัดบัวบก ยกเว้นหนูเพศเมียที่มีอายุ 2 เดือน ไม่มีความแตกต่างกันไม่ว่าจะได้หรือไม่ได้รับสารสกัดบัวบก นอกจากนี้เมื่อศึกษาถึงระดับยีนพบว่าสารสกัดบัวบกเพิ่มการทำงานของไมโตคอนเดรียและสารต้านอนุมูลอิสระส่งผลต่อการรับรู้ของยีนสมองและตับทั้งหนูที่มีอายุ 20 เดือน และ 2 เดือน โดยการแสดงออกของสารสื่อประสาทนั้นมีผลต่อสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) และสมองส่วนหน้า แต่ไม่มีผลต่อสมองส่วนซีรีเบลลัม (cerebellum) จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่า สารสกัดบัวบกเพิ่มการเรียนรู้ในหนูเม้าส์ที่มีสุขภาพดี โดยคาดว่ามีกลไกไปกระตุ้นการทำงานของไมโตคอนเดรีย และการสร้างสารอนุมูลอิสระซึ่งส่งผลต่อยีนในสมองทำให้หนูเพิ่มการเรียนรู้ได้ดีขึ้น

J Ethnopharmacol 2016;180:78-86.