การศึกษาแบบสุ่มในผู้ป่วยชาวไนจีเรียที่มีความดันโลหิตสูง Stage 1 และ Stage 2 (Stage1 140-159/90-99 มม.ปรอท Stage 2 160-179/100-109 มม.ปรอท) จำนวน 80 คน ที่ไม่ได้รับการรักษาใดๆ แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม กลุมที่ 1 ได้รับยาหลอกที่เป็นชาชง ขนาด 150 มก./กก. วันละ 1 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า กลุ่มที่ 2 ได้รับยา hydrochlorothiazide (HCTZ) ซึ่งเป็นยาขับปัสสาวะ ขนาด 25 มก. 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า กลุ่มที่ 3 ได้รับชาชงดอกกระเจี๊ยบแดง (HS) ขนาด 150 มก./กก. วันละ 1 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า นาน 4 สัปดาห์ และมีช่วงพัก 1 สัปดาห์ พบว่ากลุ่ม HCTZ และกลุ่ม HS ระดับความดันโลหิต syotolic และ diastolic รวมทั้งความดันเลือดแดงเฉลี่ย (mean arterial pressure) และระดับโซเดียมในกระแสเลือดลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับยาหลอก แต่ความสามารถในการลดความดันโลหิตของกระเจี๊ยบแดงดีกว่ายา HCTZ และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มพบว่ากลุ่มที่ได้รับยา HCTZ สามารถลดระดับโซเดียมและคลอไรด์ในกระแสเลือด และเพิ่มการขับออกของโปตัสเซียมและคลอไรด์ในปัสสาวะได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับชาชงกระเจี๊ยบแดง และในช่วงระหว่างพัก 1 สัปดาห์ มีการเปรียบเทียบค่าความดันโลหิต และระดับโซเดียมในเลือด พบว่าในกลุ่มที่ได้รับยา HCTZ ค่าความดันโลหิตและระดับโซเดียมในเลือดกลับคืนสู่สภาวะปกติเท่ากับก่อนเริ่มการศึกษาเร็วกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับชาชงดอกกระเจี๊ยบ จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าชาชงดอกกระเจี๊ยบมีฤทธิ์ลดระดับความดันโลหิตได้ดีกว่ายา HCTZ ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง Stage 1 และ Stage 2 และไม่มีผลต่อความไม่สมดุลย์ของแร่ธาตุในร่างกาย นอกจากนี้ชาชงดอกกระเจี๊ยบยังออกฤทธิ์ได้นานกว่ายา HCTZ อีกด้วย
Nigerian Journal of Clinical Practice 2015;18(6):762-70.