ฤทธิ์ต้านการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ของแป๊ะตำปึง

การทดสอบฤทธิ์ต้านการเกิดเซลล์มะเร็งในลำไส้ใหญ่ (aberrant crypt foci; ACF) จากการเหนี่ยวนำด้วยสาร azoxymethane (AOM) ในหนูแรทเพศผู้ ของสารสกัด 95% เอทานอลจากส่วนใบแป๊ะตำปึง (Gynura procumbens ) โดยการแบ่งหนูเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 (กลุ่มควบคุม) ได้รับการฉีดน้ำเกลือ (sterile normal saline) ขนาด 15 มก./กก. เข้าใต้ผิวหนังสัปดาห์ละครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และได้รับการป้อน 10% Tween 20 (น้ำกระสายยา) ขนาด 5 มล./กก. วันละครั้ง เป็นเวลา 10 สัปดาห์ กลุ่มที่ 2 ได้รับการฉีด AOM ขนาด 15 มก./กก. เข้าใต้ผิวหนังสัปดาห์ละครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และได้รับการป้อน 10% Tween 20 ขนาด 5 มล./กก. วันละครั้ง เป็นเวลา 10 สัปดาห์ กลุ่มที่ 3 และ 4 ได้รับการฉีด AOM ขนาด 15 มก./กก. เข้าใต้ผิวหนังสัปดาห์ละครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และได้รับการป้อนสารสกัดขนาด 500 หรือ 250 มก./กก. ตามลำดับ วันละครั้ง เป็นเวลา 10 สัปดาห์ และกลุ่มที่ 5ได้รับการฉีด AOM ขนาด 15 มก./กก. เข้าใต้ผิวหนังสัปดาห์ละครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และได้รับการฉีดยาต้านมะเร็ง fluorouracil (5-FU) เข้าทางช่องท้องในขนาด 35 มก./กก. วันละครั้ง เป็นเวลา 5 วัน จากผลการทดลองพบว่า ผลรวมของจำนวนการเกิด ACF ในหนูที่ได้รับสารสกัดแป๊ะตำปึงขนาด 500, 250 มก./กก. (กลุ่มที่ 3 และ 4) หนูที่ได้รับ 5-FU (กลุ่มที่ 5) และหนูที่ได้รับเฉพาะ AOM (กลุ่มที่ 2) คือ 21, 23, 32 และ 130 ตามลำดับ และในหนูที่ได้รับสารสกัดแป๊ะตำปึงขนาด 500, 250 มก./กก. ยังมีจำนวนการเกิดคริพท์ (crypts) หรือเซลล์ที่ผิดปกติจากการเหนี่ยวนำด้วย AOM ลดลง 83.6 และ 82.2% ตามลำดับเมื่อเทียบกับหนูที่ได้รับเฉพาะ AOM การตรวจสอบในระดับเนื้อเยื่อพบว่าสารสกัดแป๊ะตำปึงสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ในลำไส้ใหญ่และการแสดงออกของยีน Bcl-2 จากการเหนี่ยวนำด้วย AOM ได้ นอกจากนี้ยังทำให้การทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ เช่น glutathione-S-transfarase และ superoxide dismutase เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับหนูที่ได้รับเฉพาะ AOM ทำให้สามารถสรุปได้ว่า แป๊ะตำปึงสามารถยับยั้งการเกิด ACF จากการเหนี่ยวนำด้วย AOM ได้ โดยคาดว่ากลไกการออกฤทธิ์น่าจะเกี่ยวข้องกับฤทธิ์ต้านการแบ่งตัวของเซลล์และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการนำไปพัฒนาเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สำหรับต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่ต่อไป

J Ethnopharmacol 2014;151(3):1194-201.