การศึกษาฤทธิ์ต้านอาการผิวหนังอักเสบของเปลือกทับทิมในหนูเม้าส์ที่มีอาการผิวหนังอักเสบแบบผื่นแพ้สัมผัส (contact dermatitis) บริเวณใบหู โดยทายาตำรับสารสกัดมาตรฐาน 90% เมทานอลจากเปลือกทับทิม (Punica granatum L.) ขนาด 5, 2.5 และ 1 มก./หู หรือทาบริเวณใบหูด้วยสาร ellagic acid (EA) สารหลักที่พบในเปลือกทับทิม ขนาด 0.65, 0.325 และ 0.13 มก./หู (ขนาดเทียบเท่ากับปริมาณ EA ที่พบในตำรับยาทาสารสกัดมาตรฐาน) พบว่าทั้งตำรับยาทาจากเปลือกทับทิมและ EA ต่างลดอาการบวมได้ และอัตราการยับยั้งขึ้นกับขนาดที่ใช้ โดยยาตำรับ และ EA มีเปอร์เซ็นต์ยับยั้งอาการบวมสูงสุด คือ 79.12% และ 73.63% ตามลำดับ ในขณะที่การรักษาด้วยยามาตรฐาน triamcinolone (0.1 มก./หู) และ diclofenac (1 มก./หู) สามารถยับยั้งการบวมได้ 73.63% และ 37.91% ตามลำดับ นอกจากนี้พบว่าตำรับยาทาสารสกัดมาตรฐานจากเปลือกทับทิมและ EA ช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการก่อการอักเสบ myeloperoxidase ได้ 69.98% และ 68.79% ได้เช่นเดียวกัยการใช้ยา triamcinolone และ diclofenac ที่สามารถยับยั้งได้ 76.66% และ 80.14% ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าตำรับยาทาสารสกัดมาตรฐานจากเปลือกทับทิมและ ellagic acid มีศักยภาพในการรักษาโรคผิวหนังอักเสบได้
Phytother Res 2014;28:629-32