กลไกการออกฤทธิ์ปกป้องกระเพาะอาหารของใบตะขบฝรั่ง

การศึกษากลไกการออกฤทธิ์ปกป้องกระเพาะอาหารของสารสกัดเมทานอลจากใบตะขบฝรั่ง (Muntingia calabura L.; MEMC) ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยวิธีการผูกที่รอยต่อระหว่างกระเพาะอาหารกับลำไส้เล็ก (pylorus ligation) โดยการแบ่งหนูเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ตัว กลุ่มที่ 1 – 5 จะได้รับ 8% Tween 80 (ชุดควบคุมผลลบ), ยารักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร ranitidine ขนาด 100 มก./กก. (ชุดควบคุมผลบวก), หรือ MEMC ขนาด 100, 250 หรือ 500 มก./กก. ตามลำดับ โดยการป้อนให้กินวันละครั้ง เป็นเวลา 7 วัน จากนั้นจึงเหนี่ยวนำให้หนูเกิดแผลในกระเพาะอาหาร จากผลการทดลองพบว่า MEMC สามารถลดขนาดของแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้การหลั่งกรดในกระเพาะลดลง และ MEMC ที่ขนาด 100 และ 500 มก./กก. สามารถลดความเป็นกรดภายในของกระเพาะอาหารด้วย นอกจากนี้หนูที่ได้รับ MEMC ทุกขนาด ยังมีสารเมือกในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น แต่ประสิทธิภาพในการปกป้องกระเพาะยังต่ำกว่ายา ranitidine เล็กน้อย การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ พบว่า MEMC มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์ต้านการอักเสบสูง การศึกษาทางเคมีพบว่า MEMC มีสารในกลุ่มแทนนิน และซาโปนินอยู่สูง รวมทั้งมีสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ด้วย ทำให้สามารถสรุปได้ว่า MEMC ออกฤทธิ์ปกป้องกระเพาะอาหารผ่านหลายกลไก นั้นคือ การยับยั้งการหลั่งกรด ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ต้านการอักเสบ ซึ่งคาดว่าสารออกฤทธิ์น่าจะเป็นสารในกลุ่มแทนนิน ซาโปนิน และฟลาโวนอยด์ เช่น รูติน (rutin), เควอซิตริน (quercitrin), ไฟเสติน (fisetin) และ ไดไฮโดรเควอซิติน (dihydroquercetin).

J Ethnopharmacol 2014;151(3):1184-93.