เปลือกรากของหม่อนถูกนำมาใช้ทางการแพทย์พื้นบ้านในการยับยั้งการอักเสบ โดยเฉพาะใช้ในการรักษาอาการอักเสบของปอด เมื่อทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของฟลาโวนอยด์จากเปลือกรากของหม่อนในการยับยั้งการอักเสบของปอดเพื่อนำมาใช้ในการรักษาอาการอักเสบของทางเดินหายใจในทางคลินิค โดยทำการทดสอบในหนูเม้าส์ที่ทางเดินหายใจถูกกระตุ้นให้อักเสบด้วย lipopolysaccharide ทำการวัดระดับการสร้างโมเลกุลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบในเซลล์เยื่อบุของปอดและแมคโครฟาจในปอด ผลการทดสอบพบว่าให้หนูเม้าส์ที่กินสารสกัดเอทานอลจากเปลือกรากของหม่อน 200-400 มก./กก. ต่อวัน สามารถต่อต้านการอักเสบของทางเดินหายใจและยับยั้งอาการแสดงของหลอดลมอักเสบได้ โดยส่งผลให้การสร้าง TNF-α ลดลงและลักษณะทางจุลกายวิภาคศาสตร์ของเนื่อเยื่อปอดดีขึ้น ยับยั้งการหนาตัวที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุปอด นอกจากนี้สารฟลาโวนอยด์ที่แยกได้จากหม่อนได้แก่ kuwanone E, kuwanone G และ norartocarpanone มีฤทธิ์ยับยั้ง IL-6 ในเซลล์เยื่อบุปอด (A549) และยับยั้งการสร้าง NO ในแมคโครฟาจในปอด (MH-S) จึงสรุปได้ว่าหม่อนและสารประกอบฟลาโวนอยด์จากหม่อนมีฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบและมีความเป็นไปได้ที่จะถูกนำมาใช้ในการรักษาการอักเสบของปอดรวมไปถึงอาการหลอดลมอักเสบ
Journal of Ethnopharmacology 2013; 149: 169-175