ฤทธิ์ต้านการอักเสบจากใบขลู่

การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของใบขลู่ (Pluchea indica  (L.) Less.) ใน murine macrophage cell line RAW 264.7 และหนูแรทพบว่า เซลล์ RAW 264.7 ที่ได้รับส่วนสกัดเอทิลอะซิเตตที่แยกจากสารสกัดเอทานอล (EFPI) ขนาด 12.5 – 50 มคก./มล. มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง nitric oxide (NO) และ prostaglandin E2 (PGE2) ซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้เพิ่มขึ้นด้วยสาร lipopolysaccharide (LPS) และลดการสร้าง inducible nitric oxide synthase (iNOS) ทั้งในส่วนของ mRNA และปริมาณของ protein ผ่านการยับยั้ง iNOS promoter และการผ่านเข้านิวเคลียส ของ subunit p65 ของ nuclear factor-κB แต่ไม่มีผลในการยับยั้งกระบวนการ phosphorylation ของ mitogen-activated protein kinases (MAPKs) โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดที่ให้ นอกจากนี้ยังพบว่าการทา EFPI ขนาด 3 มก./หู ที่บริเวณหูหนูซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยสาร ethyl phenylpropiolate และการป้อนหนูซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้อุ้งเท้าเกิดการอักเสบด้วยการฉีดสาร carrageenan ด้วย EFPI ในขนาด 150 – 600 มก./กก. ก็มีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้เช่นกัน โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดที่หนูได้รับ ทำให้สามารถสรุปได้ว่า สารสกัดจากใบขลู่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่ดี

J Ethnopharmacol 2013;146:495 - 504