การศึกษาแบบสุ่ม ปกปิดสองฝ่าย และเปรียบเทียบกับยาหลอก (Prospective, double-blind randomized, placebo-controlled study) ในสตรีวัยหลังหมดประจำเดือนซึ่งมีภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (Overactive Bladder Syndrome) จำนวน 20 ราย โดยแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้รับแคปซูล ขนาด 350 มก. (ซึ่ง 1 แคปซูลมีน้ำคั้นจากใบคว่ำตายหงายเป็น 50%) รับประทานครั้งละ 3 แคปซูล วันละ 2 ครั้ง จำนวน 10 ราย และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (แลคโตส) จำนวน 10 ราย ทำการศึกษานาน 8 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วย 8 ใน 10 ราย ที่ได้รับสารสกัดคว่ำตายหงายเป็น จำนวนครั้งของถ่ายปัสสาวะทั้งกลางวันและกลางคืนต่อ 24 ชั่วโมง ลดลง (จาก 9.5 ± 2.2 เป็น 7.8 ± 1.2) และจากการติดตามประเมินผลตลอดการศึกษา พบว่ากลุ่มที่ได้รับแคปซูลต้นคว่ำตายหงายเป็นมีผู้ป่วย 8 ใน 10 ราย มีจำนวนครั้งของถ่ายปัสสาวะทั้งกลางวันและกลางคืนต่อ 24 ชั่วโมงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก มีเพียง 5 ใน 9 ราย ที่พบว่าจำนวนครั้งของถ่ายปัสสาวะทั้งกลางวันและกลางคืนต่อ 24 ชั่วโมงลดลง ในด้านคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยพบว่าทั้ง 2 กลุ่ม ไม่มีความแตกต่างกัน จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่า การใช้สารสกัดจากต้นคว่ำตายหงายเป็นน่าจะเป็นแนวโน้มที่ดีในการรักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน
Phytomedicine 2013;20:351-8.