ฤทธิ์ต้านการเกิดพังผืดที่ปอดของสารอัลคาไลน์ในเปลือกส้มเขียวหวาน

การศึกษาฤทธิ์ต้านการเกิดพังผืดที่ปอดของสารอัลคาไลน์ในเปลือกส้มเขียวหวานนั้นทำการศึกษาทั้งในหลอดทดลองและในหนูแรท โดยที่สารกลุ่มอัลคาไลน์ที่ได้จากการสกัดเปลือกผลส้มเขียวหวานด้วยเอทานอล (CAE : citrus alkaline extract) เมื่อนำไปทดสอบกับเซลล์ไฟโบบลาสต์ของปอด (MRC-5 cell) และเมื่อทดสอบในหนูแรท 36 ตัว แบ่งหนูเป็น 6 กลุ่มๆ ละ 6 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มหนูปกติให้กินน้ำ กลุ่มที่ 2 เป็นหนูกลุ่มควบคุมให้ bleomycin (เป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบและพังผืดที่ปอด) ร่วมกับน้ำ กลุ่มที่ 3 ได้รับ bleomycin ร่วมกับ prednisolone กลุ่มที่ 4, 5 และ 6 เป็นกลุ่มที่ได้รับ bleomycin ร่วมกับสาร CAE ในขนาด 8, 16 และ 32 มก./กก./วัน ตามลำดับ พบว่าสาร CAE สามารถยับยั้งการอักเสบและการเกิดพังผืดที่เซลล์ MRC-5 cell ได้ โดยไม่ได้ไปทำลายเซลล์ แต่เป็นกระบวนการที่ทำให้เซลล์ไฟโบบลาสต์ที่ถุงลมและปอดมีการอักเสบน้อยลงและดีขึ้น และพบว่าหนูแรทที่ได้รับสาร CAE จะทำให้ระดับโปรตีนที่ช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อปอด (MMP : matrix metalloproteinase) เพิ่มขึ้น ในขณะที่ระดับของโปรตีนที่ทำให้เกิดการอักเสบต่อเนื้อเยื่อปอด (TIMP-1 : tissue inhibitor of metalloproteinase-1, TNF-α : tumornecrosis factor-α) ลดน้อยลง จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าสารกลุ่มอัลคาไลน์ที่ได้จากการสกัดเปลือกผลส้มเขียวหวานด้วยเอทานอลสามารถยับยั้งการถูกทำลายของเซลล์ไฟโบบลาสต์ที่ปอด (MRC-5 cell) และป้องกันการเกิดการอักเสบและพังผืดที่ปอดที่ถูกกระตุ้นด้วย bleomycin โดยมีกลไกไปเพิ่มโปรตีน MMP : matrix metalloproteinase และลด TIMP-1 : tissue inhibitor of metalloproteinase-1 และ tumornecrosis factor-α : TNF-α

Journal of Ethnopharmacology 2013 ;146: 372-8