ผลของสารสกัดจากดอกผักคาดหัวแหวนต่อพฤติกรรมทางเพศของหนูแรท

การทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดเอทานอลจากดอกของผักคราดหัวแหวน (Spilanthes acmella  (L.) Murray) ต่อรูบแบบในการผสมพันธุ์ การแข็งตัวขององคชาต และระดับฮอร์โมนในหนูแรทปกติเพศผู้ เปรียบเทียบกับสาร sildenafil citrate ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันใช้สำหรับรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ โดยให้หนูได้รับสารสกัดเอทานอลทางปาก ขนาด 50, 100 และ 150 มก./กก./วัน หรือสาร sildenafil citrate ขนาด 5 มก./กก./วัน (positive control) เป็นเวลา 28 วัน แล้วสังเกตพฤติกรรมของหนูในวันที่ 0, 15, 28 และหลังจากหยุดให้สารทดสอบเป็นเวลา 7 และ 14 วัน พบว่าหนูกลุ่มที่ได้รับสารสกัดและสาร sildenafil citrate มีความถี่ในการขึ้นคร่อม การร่วมเพศ และการหลั่งอสุจิเพิ่มขึ้น โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดของสารสกัดที่ให้ ซึ่งขนาดที่ให้ผลสูงสุดคือ 150 มก./กก. (p<0.05) และผลดังกล่าวจะยังคงอยู่แม้จะหยุดให้สารทดสอบแล้วเป็นเวลา 7 และ 14 วัน ในขณะที่หนูกลุ่มที่ได้รับสาร sildenafil citrate ผลดังกล่าวจะหายไปหลังจากหยุดให้ยา นอกจากนี้สารสกัดดังกล่าวยังทำให้ระดับฮอร์โมน FSH, LH และ testosterone ในเลือดเพิ่มขึ้นด้วย โดยที่ประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดของสารสกัดที่ให้เช่นกัน และการทดสอบการปลดปล่อยสาร nitric oxide (NO) ของเซลล์กล้ามเนื้อฟองน้ำ (corpus cavernosum; DS-1) จากองคชาตของมนุษย์ในหลอดทดลอง โดยให้ DS-1 สัมผัสกับสารสกัดขนาด 10 มก./มล. พบว่าเซลล์มีการปลดปล่อย NO เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเซลล์ที่ไม่ได้รับสารสกัด และแม้ว่าสาร sildenafil citrate จะมีฤทธิ์เพิ่มการปลดปล่อย NO เช่นกัน แต่จะไม่มีผลต่อระดับฮอร์โมนของหนู จากผลการทดลองข้างต้นแสดงให้เห็นว่า สารสกัดเอทานอลจากดอกผักคาดหัวแหวนมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นกำหนัดทั้งการทดสอบในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการนำไปพัฒนาเป็นสารกระตุ้นทางเพศต่อไป

Phytomedicine 2011;18(13):1161-9