ผลในการปกป้องตับของชาพลูคาว

การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของส่วนสกัดต่างๆ จากชาพลูคาว ได้แก่ ส่วนสกัดเอทิลอีเทอร์ คลอโรฟอร์ม เอทิลอะซิเตรท และบิวทานอล พบว่าส่วนสกัดเอทิลอะซิเตรทมีฤทธิ์แรงที่สุดในการต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี ferric-reducing antioxidant power (FRAP) และ DPPH radical-scavenging เมื่อป้อนหนูเม้าส์ด้วยส่วนสกัดเอทิลอะซิเตรท ขนาด 250 500 และ 1000 มก./กก. นาน 8 วัน ก่อนเหนี่ยวนำให้ตับถูกทำลายด้วยคาร์บอนเตตระคลอไรด์ พบว่าส่วนสกัดเอทิลอะซิเตรทมีฤทธิ์ปกป้องตับได้ โดยลดระดับของเอนไซม์ aspartate aminotransferase, alanine aminotransferase, alkaline phosphatase ระดับของ bilirubin ในเลือด และระดับ malondialdehyde ในตับของหนูที่สูงขึ้นจากการถูกทำลายด้วยคาร์บอนเตตระคลอไรด์ นอกจากนี้ยังมีผลเพิ่มระดับของ glutathione เอนไซม์ superoxide dismutase และ catalase ในตับ เมื่อศึกษาสารสำคัญในส่วนสกัดเอทิลอะซิเตรท พบว่าประกอบด้วยสารกลุ่มโพลีฟีนอลิก ได้แก่ quercitrin, quercetin และ hyperoside สรุปว่าส่วนสกัดเอทิลอะซิเตรทจากชาพลูคาว ซึ่งอุดมด้วยสารโพลีฟีนอลิก มีผลปกป้องตับจากการเหนี่ยวนำให้เกิดพิษด้วยคาร์บอนเตตระคลอไรด์ได้ ซึ่งอาจเนื่องมาจากฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระของสารโพลีฟีนอลิก

J Agric Food Chem 2012;60:4641-8.