โสมกับฤทธิ์ปกป้องหัวใจ

การศึกษาฤทธิ์การปกป้องหัวใจของสารสกัดจากโสม (Panax ginseng C.A. Meyer) ในหนูแรท ที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยการผูกหลอดเลือดหัวใจที่ไปเลี้ยงหัวใจห้องล่างซ้ายด้านหน้าเป็นเวลา 30 นาทีแล้วคายที่ผูกออก ซึ่งหนูแรทจะได้รับการป้อนสารสกัดจากโสม ขนาด 20, 40 และ 80 มก./กก. ก่อนผูกหลอดเลือด 60 นาที ผลการศึกษาพบว่า ในหนูกลุ่มที่ผูกหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ได้รับสารสกัด จะมีกล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจเต้นผิดปกติ มีระดับ Creatine-kinase MB และ Lactate dehydrogenase (LDH) ในเลือดสูง ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่แสดงว่ามีการทำลายของเนื้อเยื่อหัวใจ ในหนูแรทที่ได้รับสารสกัดจากโสม พบว่า มีกล้ามเนื้อหัวใจตายลดลง ซึ่งเมื่อเพิ่มความเข้มข้นของสารสกัด จะมีกล้ามเนื้อหัวใจตายลดลงมากขึ้น ลดการเกิดการเต้นหัวใจผิดปกติ มีระดับ Creatine-kinase MB และ LDH ในเลือดลดลง และมีการสร้าง Nitric oxide (NO) เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของสารสกัดจากโสม โดยใช้ยายับยั้งการทำงานของตัวรับยาหรือฮอร์โมน (receptor) และตัวสื่อสัญญาณภายในเซลล์ (second massager) ต่างๆ ในหนูที่ตกแต่งพันธุกรรมให้ขาด endothelial nitric oxide synthase (eNOS) พบว่า สารสกัดจากโสมเพิ่มการทำงานของตัวรับฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์ (glucocorticoid) และฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งจะกระตุ้นการทำงานของตัวสื่อสัญญาณภายในเซลล์ ได้แก่ PI3K-Akt และ Erk1/2 ทำให้มีการทำงานของ eNOS และสร้าง NO เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการอยู่รอดของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเพิ่มมากขึ้น สรุปได้ว่า สารสกัดจากโสมมีฤทธิ์ปกป้องหัวใจจากการขาดเลือดในหนูแรทได้

J Ethhnopharmacol 2011;135:287-98