ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของกระชาย

การศึกษาฤทธิ์ในการต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของสารสกัดเมทานอลจากเหง้ากระชายและสาร pinostrobin ที่แยกได้จากสารสกัดเมทานอลในหนูแรท โดยป้อนสารสกัดเมทานอลจากกระชาย ขนาด 50, 100, 200, 400 มก./กก. และสาร pinostrobin ขนาด 20 และ 40 มก./กก. ก่อนเหนี่ยวนำให้เกิดแผลด้วยเอทานอล 1 ชม. เปรียบเทียบผลกับกลุ่มที่ป้อนยา omeprazole ขนาด 20 มก./กก. พบว่าสารสกัดเมทานอล สาร pinostrobin และยา omeprazole มีผลเพิ่มปริมาณของสารเมือก (gastric mucus) และค่า pH ในกระเพาะอาหาร และลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ ซึ่งสารสกัดเมทานอลขนาด 400 มก./กก. และสาร pinostrobin ทั้ง 2 ขนาด จะลดการเกิดแผลได้ดีกว่ายา omeprazole นอกจากนี้ยังลดอาการบวมของชั้นใต้เยื่อเมือก (submucosal edema) และทำให้การแทรกของเซลล์เม็ดเลือดขาว (leucocytes infiltration) ลดลงหรือหายไป สารสกัดเมทานอล สาร pinostrobin และยา omeprazole มีผลลดระดับของ malondialdehyde ได้ โดยสาร pinostrobin ให้ผลดีที่สุด เมื่อนำสาร pinostrobin มาทดสอบฤทธิ์ในการต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ พบว่าสาร pinostrobin ไม่มีผลในการยับยั้งการหลั่งไนตริกออกไซด์ และการทำงานของเอนไซม์ COX-1 และ COX-2 เมื่อทดลองในเซลล์ RAW 264.7 ซึ่งถูกเหนี่ยวนำด้วย lipopolysaccharide/interferon-γ (LPS/IFN- γ) และสาร pinostrobin มีฤทธิ์อ่อนในการต้านอนูมูลอิสระเมื่อทดสอบวิธี Ferric reducing/antioxidant power (FRAP) แต่ไม่มีผลเมื่อทดสอบด้วยวิธี 1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl (DPPH) สำหรับการทดสอบความเป็นพิษเมื่อป้อนสารสกัดเมทานอล ขนาด 1, 3 และ 5 ก./กก. เป็นเวลา 14 วัน ไม่พบความผิดปกติ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และน้ำหนักตัวของหนู ไม่มีหนูตาย ไม่มีความผิดปกติของตับและไต ค่าทางโลหิตวิทยา และค่าชีวเคมีในเลือด สรุปว่าสารสกัดเมทานอลจากกระชายมีฤทธิ์ในการต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ ซึ่งกลไกในการออกฤทธิ์เนื่องมาจากผลของสาร pinostrobin ในการต้านอนุมูลอิสระ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการต้านการอักเสบ

J Ethnopharmacol 2011;137:963-70.