ฤทธิ์กระตุ้นสมรรถภาพทางเพศของสารสกัดจากคาธา (Catha edulis  F.)

ศึกษาฤทธิ์ของคาธาต่อสมรรถภาพทางเพศของหนูแรทเพศผู้ โดยในการทดลองแบ่งหนูออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุม ป้อนสารละลาย Tween 80 (3% v/v) กลุ่มที่ 2 3 และ 4 ป้อนสารสกัดคาธา ซึ่งสกัดด้วย Chloroform และ diethyl ether สัดส่วน 1:3 (v/v) ขนาด 100 200 และ 300 มก./กก. ตามลำดับ และกลุ่มที่ 5 ป้อนสาร cathinone ขนาด 5 มก./กก. เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ทำการทดสอบพฤติกรรมทางเพศของหนูที่เปลี่ยนแปลงไป และตรวจวัดค่าฮอร์โมนเพศในเลือด รวมถึงการนับจำนวนเชื้ออสุจิและพยาธิสภาพของระบบสืบพันธุ์ ผลการศึกษาพบว่า สารสกัดคาธาขนาด 100 มก./กก. มีผลให้หนูแรทมีระยะเวลาในการเริ่มมีปฏิสัมพันธ์จนถึงการขึ้นคร่อมตัวเมียครั้งแรก (mount latency, ML) และระยะเวลาตั้งแต่เริ่มมีปฏิสัมพันธ์จนถึงการสอดใส่อวัยวะเพศครั้งแรก (intromission latency, IL) ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ในขณะที่ หนูแรทที่ป้อนด้วยสารสกัดคาธาขนาด 200 มก./กก. มีระยะเวลาตั้งแต่เริ่มมีปฏิสัมพันธ์จนถึงการสอดใส่อวัยวะเพศครั้งแรก และความถี่ในการสอดใส่อวัยวะเพศ (intromission frequency, IF) ลดลง แต่ช่วงเวลาหลังจากการหลั่งจนถึงการมีปฏิสัมพันธ์ครั้งต่อไป (post-ejaculatory latency, PEL) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนูในกลุ่มที่ป้อนด้วยสารสกัดคาธาขนาด 300 มก./กก. มีค่า IF และระยะเวลาในการเริ่มหลั่งอสุจิ (ejaculation latency, EL) ลดลง แต่ค่า IL PEL ML และความถี่ในการขึ้นคร่อมตัวเมีย (mount frequency, MF) เพิ่มขึ้น และหนูแรทกลุ่มที่ป้อนด้วยสาร cathinone ขนาด 5 มก./กก. มีค่า MF และ LF สูงสุด แต่มีค่า EL และ IF ลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ผลการวัดค่าฮอร์โมนในเลือดพบว่าหนูแรทกลุ่มที่ป้อนด้วยสารสกัดคาธาขนาด 100 มก./กก. มีปริมาณฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (testoseterone) เพิ่มสูงขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่แรทกลุ่มที่ป้อนด้วยสารสกัดคาธาขนาด 200 และ 300 มก./กก. กลับมีค่าลดลง 18% และ 50% ตามลำดับ ในขณะที่สารสกัดคาธาขนาด 100 มก./กก. ไม่มีผลต่อปริมาณฮอร์โมน cortisol ในเลือด แต่สารสกัดคาธาขนาด 200 และ 300 มก./กก. มีผลทำให้เพิ่มขึ้น 83% และ 164.5% ตามลำดับ นอกจากนี้ผลการนับจำนวนเชื้ออสุจิพบว่า สารสกัดคาธามีผลลดจำนวนอสุจิเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และไม่พบความเสียหายในอวัยวะสืบพันธุ์ของหนู ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าสารสกัดคาธามีฤทธิ์กระตุ้นแรงจูงใจในการมีเพศสัมพันธุ์ของหนูแรทอย่างอ่อน และประสิทธิภาพจะลดลงเมื่อกินในปริมาณที่มากขึ้น

J Ethno. 2011; 134: 977-983