กลไกในการรักษาอาการท้องเสีย และต้านการหดเกร็งในลำไส้ของมะขามป้อม

การศึกษากลไกในการรักษาอาการท้องเสียของสารสกัดหยาบจากผลมะขามป้อม (Phyllanthus emblica  ; Pe.Cr) ในหนูเม้าส์ และการศึกษาฤทธิ์ต้านการหดเกร็งในลำไส้เล็กที่แยกออกมาของกระต่ายพบว่า สารสกัดหยาบขนาด 500–700 มก./กก. ซึ่งประกอบด้วยสารในกลุ่ม alkaloids, tannins, terpenes, flavonoids, sterols และ coumarins สามารถบรรเทาอาการท้องเสียและการสะสมของเหลวในลำไส้ของหนูเม้าส์ที่เกิดจากการเหนี่ยวนำด้วยน้ำมันละหุ่งได้ การศึกษาในลำไส้เล็กส่วนเจจูนัมของกระต่ายพบว่า Pe.Cr สามารถคลายกล้ามเนื้อส่วนเจจูนัมจากการถูกเหนี่ยวนำให้หดเกร็งด้วยสาร carbachol (CCh) และ K+ (80 มิลลิโมล) ซึ่งให้ผลเช่นเดียวกับยา dicyclomine (ยาระงับอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ) และการศึกษากลไกการออกฤทธิ์ในลำไส้เล็กส่วนไอเลียมของหนูตะเภา (guinea pig) โดยใช้ Pe.Cr ขนาด 0.3 และ 1 มก./มล. พบว่ามีกลไกการออกฤทธิ์เหมือนกับยา dicyclomine นั่นคือมีฤทธิ์เป็น anticholinergic และเป็น Ca2+ channel blocking (CCB) ซึ่งเป็นการออกฤทธิ์ต้านอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ และฤทธิ์ CCB นี้ยังเหมือนกับการออกฤทธิ์ของยา nifedipine และ dicyclomine ด้วย ทำให้สามารถสรุปได้ว่าสารสกัดจากผลของมะขามป้อมออกฤทธิ์บรรเทาอาการท้องเสีย และต้านการหดเกร็งในลำไส้โดยผ่านการยับยั้ง muscarinic receptors และ Ca2+ channels

J Ethnopharmacol 2011;133(2):856 - 65