ผลของการใช้เพชรสังฆาตในการรักษาโรคริดสีดวงทวารที่มีอาการเฉียบพลัน

การศึกษาประสิทธิผลและผลข้างเคียงของการใช้สมุนไพรเพชรสังฆาตในผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวาร ระยะเฉียบพลัน จำนวน 570 คน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับยาที่มีส่วนผสมของฟลาวานอยด์ (Daflon 500 มก./เม็ด) กลุ่มที่ได้รับสมุนไพรเพชรสังฆาต (500 มก./เม็ด) และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ในช่วง 4 วันแรก ให้รับประทานครั้งละ 3 เม็ด เช้าและเย็น หลังอาหาร และช่วง 3 วันหลัง ได้รับครั้งละ 2 เม็ด เช้าและเย็น หลังอาหาร ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินอาการต่างๆ คือ เลือดออกทางทวารหนัก เมือก อาการคัน รอยแดง หรืออักเสบรอบทวารหนัก และการสัมภาษณ์เพื่อสอบถามอาการ รวมทั้งมีการตรวจเลือดและติดตามผลข้างเคียงของการได้รับยาหรือสมุนไพรควบคู่ไปพร้อมกันด้วย ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยในทุกกลุ่มส่วนใหญ่อาการเลือดออกเฉียบพลันจะหยุดในวันที่ 2 ของการให้ยา และมีอาการดีขึ้นหลังการให้ยาครบ 7 วัน ประสิทธิผลของการรักษาในผู้ป่วยทุกกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และไม่มีผลข้างเคียงเกิดขึ้น สรุปได้ว่าเพชรสังฆาตให้ผลในการรักษาริดสีดวงทวารในระยะเฉียบพลันไม่แตกต่างจากยาที่มีส่วนผสมของฟลาวานอยด์และยาหลอก แสดงว่าเพชรสังฆาตไม่มีผลช่วยในการรักษาริดสีดวงทวารในระยะเฉียบพลัน ดังนั้นควรจะมีการศึกษาเพิ่มเติมในระยะยาว เพื่อดูว่าสมุนไพรเพชรสังฆาตมีผลในการป้องกันและรักษาให้หายขาดจากโรคริดสีดวงทวารได้หรือไม่

J Med Assoc Thai 2010;93(12):1360-7.