ฤทธิ์ลดความดันโลหิตของสารสกัดจากหญ้าฝรั่น

ศึกษาผลของสารสกัดน้ำจากหญ้าฝรั่น และสารสำคัญสองชนิดในหญ้าฝรั่น ได้แก่ crocin และ safranal ต่อความดันโลหิต โดยทำการทดลองในหนูแรทสองกลุ่ม หนูกลุ่มแรกมีความดันโลหิตเป็นปกติ และหนูกลุ่มที่สองเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงด้วยการฉีด desoxycorticosterone acetate ให้สารสกัดหญ้าฝรั่นแก่หนูแรททั้งสองกลุ่มโดยการสอดท่อเข้าเส้นเลือดดำใหญ่ที่คอด้านขวา (right jugular vein) และทำการวัดความดันโลหิตโดยสอดท่อเข้าเส้นเลือดแดงใหญ่ที่คอด้านซ้าย (left carotid artery) วัดค่าความดันโลหิตในหลอดเลือดแดง วัดค่าเฉลี่ยความดันโลหิตของหลอดเลือดแดง (mean arterial blood pressure, MABP) และอัตราการเต้นของหัวใจ (heart rate, HR) ก่อนให้สารสกัดหญ้าฝรั่นเพื่อเป็นค่าควบคุม ให้สาร crocin 50, 100 และ 200 มก./กก. safranal 0.25, 0.5 และ 1 มก./กก. สารสกัดน้ำจากหญ้าฝรั่น 2.5, 5 และ 10 มก./กก. การให้สารสกัดแต่ละครั้งให้ห่างกันครั้งละประมาณ 10 นาที เพื่อรอให้ค่า MABP หลังจากให้สารสกัดแต่ละครั้งกลับมาสู่ภาวะปกติ ผลจากการทดลองพบว่าสารสกัดหญ้าฝรั่นทั้งสามชนิดมีผลลดค่า MABP ในหนูทั้งสองกลุ่มขึ้นกับปริมาณที่ให้ (dose-dependent manner) โดยสารสกัดน้ำจากหญ้าฝรั่น 10 มก./กก. ทำให้ค่า MABP ลดลง 60±8.7 มม.ปรอท, safranal 1 มก./กก. ลดลง 50±5.2 มม.ปรอท และ crocin 200 มก./กก. ลดลง 51±3.8 มม.ปรอท จากการทดลองสามารถสรุปได้ว่าสารสกัดหญ้าฝรั่นมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต (hypotensive) โดยสารสกัด safranal มีบทบาทในการลดความดันโลหิตมากกว่า crocin

Phytother.Res. 2010; 24: 990-94