สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพของน้ำเชื้อและปริมาณการบริโภคคาเฟอีนในชายชาวเดนมาร์ค 2554 คน ในปี ค.ศ. 2001-2005 โดยให้อาสาสมัครตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ และขอเก็บตัวอย่างน้ำเชื้อเพื่อตรวจวิเคราะห์ ผลการศึกษาพบว่าผู้บริโภคคาเฟอีนปริมาณขนาดปานกลาง (101-800 มิลลิกรัมต่อวัน) และบริโภคเครื่องดื่มโคล่าไม่เกิน 14 ขวดต่อสัปดาห์ (ขวดขนาด 0.5 ลิตร) เปรียบเทียบกับผู้ที่บริโภคคาเฟอีนปริมาณน้อย (ไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อวัน) และไม่บริโภคเครื่องดื่มโคล่าเลยพบว่า ไม่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพของน้ำเชื้อ ในขณะที่ผู้ที่บริโภคเครื่องดื่มโคล่าปริมาณมาก (มากกว่า 14 ขวดต่อสัปดาห์) และ/หรือ ได้รับคาเฟอีนในปริมาณสูง (มากกว่า 800 มิลลิกรัมต่อวัน) มีค่าความเข้มข้นของอสุจิและจำนวนอสุจิที่นับได้สูงสุดลดลง แม้ว่าค่าทางสถิติจะบ่งชี้ว่า เฉพาะการบริโภคเครื่องดื่มโคล่าเท่านั้นที่มีผลอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้ที่บริโภคเครื่องดื่มโคล่าในปริมาณสูงจะมีค่าความเข้มข้นของอสุจิ 40 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร (95% confidence interval (CI):32,51) และจำนวนอสุจิที่นับได้สูงสุด 121 ล้านตัว (95% CI: 92, 160) ในขณะที่ผู้ไม่ดื่มโคล่า จะมีค่าความเข้มข้นของอสุจิ 56 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร (95% CI: 50,64) และจำนวนอสุจิที่นับได้สูงสุดเท่ากับ 181 ล้านตัว (95% CI: 156,210) จากผลการทดลองสามารถสรุปได้ว่าการบริโภคเรื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบปริมาณสูง (มากกว่า 800 มิลลิกรัมต่อวัน) มีผลลดคุณภาพน้ำเชื้อ
Am J Epidemiol 2010; 171: 883-91