ขมิ้นชันกับการป้องกันกระดูกพรุน

ผลของสารสกัดจากขมิ้นชันต่อการป้องกันภาวะกระดูกพรุนเนื่องจากการขาดฮอร์โมนเพศ (ภาวะกระดูกพรุนในวัยหมดประจำเดือน) โดยทำการศึกษาในหนูแรทเพศเมียอายุ 3 เดือน จำนวน 4 กลุ่ม หนูกลุ่มที่ 1 (กลุ่มหนูปกติ) ฉีดสาร dimethylsulfoxide (DMSO) ซึ่งเป็นตัวทำละลายของสารสกัด เข้าทางช่องท้อง ส่วนหนูกลุ่มที่ 2-4 ทำการตัดรังไข่ออกเพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนเนื่องจากขาดฮอร์โมนเพศ หลังจากนั้น หนูกลุ่มที่ 2 (กลุ่มควบคุม) ฉีดสาร DMSO เข้าทางช่องท้อง หนูกลุ่มที่ 3 และกลุ่มที่ 4 ฉีดสารสกัดจากขมิ้นชันซึ่งมีส่วนประกอบของ สาร curcuminoids 41% และ 94% ตามลำดับ ขนาด 60 มก./กก. เข้าทางช่องท้อง จำนวน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 2 เดือน แล้วดูผลของสารสกัดจากขมิ้นชันต่อความหนาแน่นของกระดูกปลายโคนขา และโครงสร้างกระดูกปลายโคนขา พบว่าหนูกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากขมิ้นชันซึ่งมีส่วนประกอบของ สาร curcuminoids 94% สามารถป้องกันการลดลงของความหนาแน่นของกระดูกได้ถึง 50% และป้องกันการสูญเสียโครงสร้างของกระดูก โดยเพิ่ม connectivity density, trabecular number และ trabecular thickness และลด trabecular spacing ลง เมื่อเทียบกับหนูกลุ่มควบคุม แต่หนูกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากขมิ้นชันไม่สามารถทำให้ความหนาแน่นของกระดูกเพิ่มขึ้นเทียบเท่ากับกลุ่มหนูปกติ จากผลที่ได้แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากขมิ้นชันอาจมีฤทธิ์ปกป้องกระดูก ซึ่งปริมาณสารสำคัญที่เป็นส่วนประกอบในสารสกัดจากขมิ้นชันก็เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญด้วยเช่นกัน

J Agric Food Chem 2010;58:9498-504