การทดลองในหลอดทดลองพบว่าสารโพลีฟีนอลจากชาขาว ชาเขียว และชาดำมีผลยับยั้งเอนไซม์ lipase (เอนไซม์ย่อยไขมัน) จากตับอ่อน โดยชาขาวมีฤทธิ์ยับยั้งได้มากกว่าชาเขียว และชาดำ เมื่อเปรียบเทียบในขนาดที่มี gallic acid 200 มคก./มล.เท่ากัน โดยค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งเอนไซม์ lipase ได้ 50% (EC50) ของชาขาวและชาเขียวเท่ากับ 22 และ 35 มคก./มล. ตามลำดับ เมื่อวิเคราะห์ปริมาณสารโพลีฟีนอลโดยวิธี Liquid chromatography-mass spectrometry (LC-MS) พบว่าชาทั้งสองชนิดมีปริมาณสารกลุ่ม flavan-3-ols ใกล้เคียงกัน แต่ในชาเขียวมีปริมาณฟลาโวนอล (flavonols) สูงกว่า ในขณะที่ชาขาวจะพบปริมาณ 5-galloyl quinic acid, digalloyl glucose, trigalloyl glucose, แทนนิน และ strictinin สูงกว่าชาเขียว และเมื่อนำปริมาณสารโพลีฟีนอลที่ได้จาก LC-MS ไปแยกส่วนโดยวิธี Chromatography on Sephadex LH-20 พบว่าชั้นสารที่มีปริมาณ strictinin สูงยังคงออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ lipase ได้ดี ในขณะที่ชั้นสารอื่นๆ ไม่มีผลยับยั้ง จึงสรุปได้ว่าปริมาณสาร strictinin ในชามีผลต่อฤทธิ์การยับยั้งเอนไซม์ lipase จากตับอ่อน
Food Res Int 2010; 43: 1537-44