ผลของสารสกัดกระเช้าสีดาต่อยาขับปัสสาวะที่ก่อให้เกิดโรคเกาท์

การศึกษาผลของสารสกัดกระเช้าสีดาต่อยาขับปัสสาวะที่ก่อให้เกิดโรคเกาท์เนื่องจากการสะสมของกรดยูริก โดยทำการทดลองในหนูขาวพันธุ์ Wistar ailbino 24 ตัว แบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งป้อนยาขับปัสสาวะ Thiazide ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว และยา Amiloride ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว กลุ่มที่สอง ป้อนยาขับปัสสาวะ Thiazide ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว และยา Amiloride ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว และป้อนยาขับกรดยูริก Probenecid ขนาด 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว กลุ่มที่สาม ป้อนยาขับปัสสาวะ Thiazide ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว และยา Amiloride ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว และป้อนสารสกัดแอลกอฮอล์กระเช้าสีดาขนาด 400 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว กลุ่มที่สี่ป้อนยาขับปัสสาวะ Thiazide ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว และยา Amiloride ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว และป้อนสารสกัดน้ำของกระเช้าสีดาขนาด 400 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว ทำการป้อนเช่นนี้จนครบ 15 วัน และเก็บปัสสาวะเพื่อนำมาตรวจหาปริมาณกรดยูริก ในวันที่ 3 6 9 12 และ 15 ของการทดลอง ผลการตรวจพบว่าสารสกัดกระเช้าสีดาทั้งแบบสารสกัดน้ำและสารสกัดแอลกอฮอล์ สามารถยับยั้งภาวะการสะสมกรดยูริก (antihyperuricemic) ของยาขับปัสสาวะ โดยการปรับปริมาณของกรดยูริกให้อยู่ในระดับใกล้เคียงมาตรฐาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาจใช้สมุนไพรกระเช้าสีดาเพื่อการรักษาโรคเกาท์แก่ผู้ป่วยที่รับประทานยาขับปัสสาวะได้

Pharmacologyonline. 2008; 304-308.