การทดสอบฤทธิ์ glucosylceramide จากสารสกัดบุกอีรอกเขาต่อการสูญเสียน้ำบนผิวหนังหนูถีบจักรขนบางเพศผู้ซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้ผิวหนังหยาบกร้านด้วยสารละลาย sodium dodecyl sulfate โดยแบ่งการทดลองเป็น กลุ่มควบคุม ป้อนยาหลอก, กลุ่มทดลองที่ 1 ป้อนสารสกัดบุกอีรอกเขา ซึ่งประกอบด้วย glucosylceramide 12 % (ขนาด 30 ไมโครกรัม/วัน) และ กลุ่มทดลองที่ 2 ป้อนผลิตภัณฑ์บุกอีรอกเขา ซึ่งประกอบด้วย glucosylceramide บริสุทธิ์100%(ขนาด 30 ไมโครกรัม/วัน) เป็นเวลา 14 วัน ในวันที่ 4 ของการป้อน ใช้ผ้าชุบสารละลาย sodium dodecyl sulfate 10% ขนาด 300 ไมโครลิตร ทาบริเวณหลังด้านซ้ายของหนูเป็นเวลา 5 นาที เช็ดเบาๆด้วยสำลีที่จุ่มน้ำอุ่น และทาสารละลาย sodium dodecyl sulfate ทุกวันหลังการป้อนยา 3 ชม. และในวันที่ 4 หลังจากทาสารละลาย sodium dodecyl sulfate 1 ชม. ทำการวัดค่าการสูญเสียน้ำบนผิวหนังด้วยเครื่อง Tewameter พบว่าค่าการสูญเสียน้ำบนผิวหนังในกลุ่มทดลองที่ 2 ต่ำมากที่สุด รองลงมาเป็นกลุ่มทดลองที่ 1 และกลุ่มควบคุม ตามลำดับ และเมื่อนำตัวอย่างผิวมาวัดค่า IL-1α production พบว่าค่า IL-1α production ของกลุ่มทดลองต่ำกว่ากลุ่มควบคุม
การทดสอบฤทธิ์ glucosylceramide จากสารสกัดบุกอีรอกเขาต่อ IL-1α production บนผิวหนังหนูถีบจักรเพศผู้ซึ่งอยู่ในสิ่งแวดล้อมแห้ง โดยแบ่งการทดลองเป็น กลุ่มควบคุม ป้อนยาหลอก และกลุ่มทดลองป้อน glucosylceramide จากสารสกัดบุกอีรอกเขาขนาด 250 ไมโครกรัม/วัน เป็นเวลา 29 วัน นำตัวอย่างผิวมาวัดค่า IL-1α production พบว่าค่า IL-1α production ของกลุ่มทดลองต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ
การศึกษาแบบ randomized double-blind placebo-controlled ในคนสุขภาพดี 100 คน เป็นเพศชาย 49 คน เพศหญิง 51 คน อายุระหว่าง 21-59 ปี เพื่อศึกษาฤทธิ์ glucosylceramide จากสารสกัดบุกอีรอกเขาต่อการสูญเสียน้ำบนผิวหนังบริเวณแก้มและแขนส่วนล่าง และเพื่อศึกษาการลดความไวจากอาการคันบนผิวหนังบริเวณใบหน้าและแขน โดยแบ่งการทดลองเป็น กลุ่มควบคุมให้ดื่มเครื่องดื่มยาหลอก กลุ่มทดลองให้ดื่มเครื่องดื่มบุกอีกรอกเขาปริมาณ 340 มล. ซึ่งประกอบด้วย glucosylceramide 3% ขนาด 1.8 มก. เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ทำการวัดค่าการสูญเสียน้ำและการลดความไวจากอาการคัน ในสัปดาห์ที่ 0, 4, 8 และ 12 และต่อไปจนถึงสัปดาห์ที่ 16 พบว่าในสัปดาห์ที่ 8 และ12 ค่าการสูญเสียน้ำบนผิวหนังบริเวณแก้มในกลุ่มทดลองมีค่าต่ำกว่าในกลุ่มควบคุม ส่วนค่าการสูญเสียน้ำบนผิวหนังบริเวณแขนส่วนล่างในกลุ่มทดลองไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม นอกจากนี้ยังพบว่าในสัปดาห์ที่ 4 และ12 ความไวจากอาการคันบนผิวหนังบริเวณแขนในกลุ่มทดลองลดลงกว่ากลุ่มควบคุม ส่วนความไวจากอาการคันบริเวณใบหน้าในกลุ่มทดลองไม่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม
สรุปได้ว่าการบริโภคสาร glucosylceramide จากบุกอีรอกเขา ช่วยทำให้คุณสมบัติการป้องกันของผิวหนังดีขึ้น
Journal of Health Science, 54(5) 559-566 (2008)