การศึกษาในผู้ป่วย 100 คน ชาย 39 คน และหญิง 61 คน ที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดมากกกว่าหรือเท่ากับ 220 มก./ดล. มีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 52.2 ± 12.2 ปี แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 4 กลุ่มๆ ละ 25 คน กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่รับประทานถั่วเหลืองอบขนาด 50 ก./วัน ซึ่งเทียบเท่ากับสาร isoflavones 31.2 มก. กลุ่มที่ 2 ดื่มชาเขียวชง 500 มล./วัน (ชาแห้ง 3 ก./ปริมาตร) ซึ่งเทียบเท่ากับสาร epigallocathechin-3-gallate (EGCG) 145 มก. กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ได้รับถั่วเหลือง (50 ก./วัน) และชาเขียว (3 ก./วัน) ร่วมกัน กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มควบคุมให้รับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลต่ำ ทำการศึกษานาน 90 วัน ซึ่งจะทำการเจาะเลือดเพื่อดูระดับ low density lipoprotein (LDL) high density lipoprotein (HDL) ระดับคอเลสเตอรอลรวม ระดับไตกลีเซอร์ไรด์ ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระในเลือด (Total plasma antioxidant capacity : TRAP) ระดับ total lipid hydroperoxide ตั้งแต่เริ่มศึกษา (baseline) และหลังการศึกษา 45 และ 90 วัน พบว่าระดับ TRAP และ total lipid hydroperoxides ในเลือดสูงขึ้นทั้งในกลุ่มที่ได้รับถั่วเหลือง ชาเขียว และกลุ่มที่ได้รับถั่วเหลืองร่วมกับชาเขียว ในขณะที่กลุ่มควบคุมต่ำลง แต่ระดับ LDL, HDL และไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดของทุกกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันหลังสิ้นสุดการศึกษา แต่ในกลุ่มที่ได้รับถั่วเหลืองร่วมกับชาเขียวพบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับตอนเริ่มการศึกษา ระดับคอเลสเตอรอลรวมลดลง 6% หลังการศึกษาได้ 45 และ 90 วัน การศึกษานี้สรุปได้ว่าการรับประทานถั่วเหลือง ชาเขียว หรือถั่วเหลืองร่วมกับชาเขียวสามารถเพิ่มความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระในเลือดได้ ในขณะที่การรับประทานถั่วเหลืองร่วมกับชาเขียวสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลรวมในเลือดได้ แต่ไม่มีผลต่อระดับ HDL, LDL และไตรกลีเซอไรด์ในเลือด
Nutrition 2008;24:562-8