การศึกษาแบบ double-blinded comparative study เพื่อศึกษาผลของการดื่มเครื่องดื่มมันเทศสีม่วง (PSP) ที่มีต่อตับในอาสาสมัครผู้ใหญ่ชาวญี่ปุ่น เพศชาย สุขภาพดี แต่มีระดับเอนไซม์ตับก้ำกึ่ง (borderline) ที่อาจแสดงว่าเป็นตับอักเสบ โดยใช้เอนไซม์ γ-glutamyl transferase (GTT), aspartate aminotransferase (AST) และ alanine aminotransferase (ALT) เป็นตัววัดผล มีผู้เข้าร่วมการศึกษาจำนวน 48 คน อายุ 30 60 ปี มีค่าเอนไซม์ตับ 1 หรือมากกว่า 1 ชนิดที่อยู่ในระดับก้ำกึ่งที่อาจแสดงว่าเป็นตับอักเสบ (GGT > 80 IU/l, AST 42 99 IU/l และ AST 42 99 IU/l) แต่ไม่มีประวัติการทำงานของตับเสีย ไม่ได้รับยาหรืออาหารเสริมที่อาจมีผลต่อการทำงานของตับ และไม่เคยบริจาคโลหิตมากกว่า 200 มล. ก่อนการศึกษา 4 สัปดาห์ การศึกษานี้ใช้ระยะเวลา 15 สัปดาห์ แบ่งเป็น 3 สัปดาห์ก่อนการทดลอง 8 สัปดาห์ของการทดลอง (ดื่มเครื่องดื่ม PSP หรือเครื่องดื่มหลอก) และ 4 สัปดาห์หลังการทดลอง อาสาสมัครจะถูกสุ่มอย่างอิสระเป็นกลุ่มทดลองดื่มเครื่องดื่ม PSP 2 ขวด/วัน (มี anthocyanin 200.3 มก./1 ขวด (125 มล.)) และกลุ่มเครื่องดื่มหลอก 2 ขวด/วัน (มี anthocyanin 1.7 มก./1 ขวด (125 มล.)) ทุกคนได้รับคำแนะนำว่าไม่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารหรือชีวิตประจำวันในช่วงที่ทำการศึกษา
จากผลการศึกษาพบว่า มีผู้เข้าร่วมจนจบการศึกษา 38 คน ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ค่าโลหิตวิทยา และปัสสาวะทั้งสองกลุ่ม ยกเว้นค่าเอนไซม์ตับ GGT, AST และ ALT ในกลุ่ม PSP ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการทดลอง ค่า GGT ลดลงเฉลี่ย 19.0, 19.9, 20.9 และ 20.12 IU/l วัดผลที่ 4, 6, 8 และ 12 สัปดาห์ ในทุกคน และลดลง 37.0, 37.7, 37.3, 30.0 และ 35.1 IU/l วัดผลที่ 4, 6, 8, 10 และ 12 สัปดาห์ ในอาสาสมัครที่มีค่า GGT ก่อนการทดลองสูง ค่า AST ลดลงเฉลี่ย 4.9, 5.4, 5.7, 5.9 และ 6.7 IU/l วัดผลที่ 2, 4, 6, 10 และ 12 สัปดาห์ ในทุกคน และลดลง 13.7, 12.5, และ 13.7 IU/l วัดผลที่ 6, 8 และ 12 สัปดาห์ ในอาสาสมัครที่มีค่า AST ก่อนการทดลองสูง และค่า ALT ลดลงเฉลี่ย 8.2 และ 8.5 IU/l วัดผลที่ 10 และ 12 สัปดาห์ ในทุกคน และลดลง 10.7 วัดผลที่ 12 สัปดาห์ ในอาสาสมัครที่มีค่า ALT ก่อนการทดลองสูง ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของระดับเอนไซม์ดังกล่าวในกลุ่มเครื่องดื่มหลอกเมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังการทดลอง ยกเว้นค่า AST ในสัปดาห์ที่ 10 ลดลง 4.8 IU/l ทุกคน ระดับเอนไซม์ทั้ง 3 ชนิดในกลุ่ม PSP หลังการทดลอง แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มเครื่องดื่มหลอก และไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างระดับเอนไซม์ดังกล่าวกับเครื่องดื่มอัลกอฮอล์ ดังนั้น การดื่มเครื่องดื่มมันเทศสีม่วงจะช่วยลดระดับเอนไซม์ในตับคนที่มีสุขภาพดีที่มีค่าก้ำกึ่งที่อาจแสดงว่าเป็นตับอักเสบได้
Eur J Clin Nutr 2008;62:60-7